Home เรื่องเล่าตอนเข้าค่าย การรับและการถวายกฐินตามพระธรรมวินัย
การรับและการถวายกฐินตามพระธรรมวินัย PDF  | Print |  E-mail
Thursday, 03 February 2011 09:03

 

“หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย”

พระธรรมเทศนา
ในงานทอดกฐิน  วัดพระพุทธบาท
บ้านนาดี  ตำบลพระพุทธบาท  อำเภอมหาชนะชัย  จังหวัดยโสธร
2 พฤศจิกายน  2523
 แสดงธรรมโดย

“หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย”  (พระราชสังวรญาณ)  

 

          บัดนี้ จะได้แสดงพระธรรมเทศนาพรรณนาศาสนธรรม คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อเป็นเครื่องประดับ สติปัญญาของคณะเจ้าภาพและพุทธศาสนิกชน  เนื่อง ณ โอกาสนี้ คณะเจ้าภาพนำโดยคุณหมอปัญญาและท่านผู้มีเกียรติหลายท่าน  พร้อมทั้งพุทธบริษัทโดยทั่วๆ ไป ทั้งในพระนครและต่างจังหวัด ได้พร้อมใจกันมาทำบุญทอดกฐิน ณ วัดพระพุทธบาทนี้  มีวัตถุ  ประสงค์ดังที่ท่านทั้งหลายได้ทราบกันแล้ว  คือ เพื่อจะพัฒนา     พุทธสถานแห่งนี้ให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบไป

 


           การทอดกฐินนั้น ได้ชื่อว่าเป็นสังฆทาน เพราะตามพระวินัย พระในที่จะรับกฐินได้จะต้องมีไม่น้อยกว่า ๕ รูปขึ้นไป จึง  จะเป็นการถวายผ้ากฐินโดยสมบูรณ์ตามพระวินัย  และอีกนัยหนึ่ง การทอดกฐินที่ว่าเป็นกาลทาน เพราะจำเพาะจะทำกฐินได้หลังจาก พระภิกษุสงฆ์ปวารณาออกพรรษาแล้ว มีเวลา ๑ เดือน คือ ตั้งแต่ แรมค่ำ ๑ เดือน ๑๑ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒  ในระหว่างนี้ ทายกผู้ศรัทธาที่จะทอดกฐินย่อมทำได้ในระยะนี้ ถ้านอกจากระยะนี้ไปแล้ว ก็ได้ชื่อว่าเป็นการทำทานถวายผ้าธรรมดา ไม่เป็นกฐิน  ดังนั้น กฐินจึงได้ชื่อว่าเป็นกาลทาน คือ มีกาลเวลาจำกัด

 


           บัดนี้ท่านทั้งหลายได้พร้อมใจกันมาถวายกฐินสังฆทานและ กฐินกาลทานตามที่กล่าวมาแล้ว  เพื่อเป็นการสนับสนุนเจตนา      ศรัทธาของบรรดาท่านทั้งหลาย อาตมะจะได้นำธรรมะอันเป็นคำ สั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแสดงพอสมควรแก่กาลเวลา

 


คู่หูธุดงค์ หลวงพ่อโฮมกับสามเณรประมัย


           อันการศึกษาธรรมะและการฟังธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านผู้อยู่ในพระนคร อันเป็นถิ่นที่เจริญด้วยศิลปวิทยาการทั้ง   ทางฝ่ายโลกและฝ่ายธรรม คงได้ศึกษาและได้สดับกันมามากต่อ   มาก  ดังนั้น เรื่องของธรรมะจึงจะไม่นำมากล่าวให้กว้างขวาง จะพูดเฉพาะในสิ่งที่จำเป็นเกี่ยวกับการปฏิบัติ   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง   ท่านหลวงพ่อโฮม พระเดชพระคุณพระราชมุนี ท่านก็เป็นพระเถระที่หนักแน่นในการปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน   

 

          เคยได้ทราบประวัติของท่านตั้งแต่ในอดีตมาแล้ว ในสมัยที่ท่านยังเป็นพระภิกษุหนุ่ม ได้ไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่สำนักวัดปทุมวนาราม จังหวัดพระนคร  ในหน้าพรรษา หน้าศึกษาปริยัติ ธรรม ท่านก็ได้ตั้งอกตั้งใจศึกษาพระปริยัติธรรมจนสามารถสอบ ได้ถึงเปรียญ ๖ ประโยค  เมื่อถึงกาลหน้าแล้งซึ่งว่างจากการศึกษา พระปริยัติธรรมแล้ว ท่านก็ถือโอกาสออกเดินธุดงค์ไปในสถานที่ ต่างๆ  ได้ทราบว่าสหธรรมิกเพื่อนคู่หูในการเดินธุดงค์ของท่าน     นั้นคือ สามเณรประมัย กาฬเนตร ซึ่งเป็นลูกข้าราชการท่านหนึ่งที่ จังหวัดอุบลราชธานี ได้ไปบวชเป็นสามเณรและศึกษาพระปริยัติ ธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญ ๓ ประโยค


           ทั้งสองท่านนี้ เมื่อว่างจากการศึกษาพระปริยัติธรรมแล้ว ท่านก็ออกเดินธุดงค์เป็นคู่กัน โดยได้อาศัยพระเดชพระคุณเจ้า พระคุณปัญญาพิศาลเถร (หนู) ซึ่งเป็นสหธรรมิกของท่านอาจารย์ เสาร์ เป็นอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชากรรมฐาน  ซึ่งท่านทั้ง    สองก็ได้ศึกษาสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานในสำนักของ เจ้าพระคุณองค์นั้น  จนมีความรู้ความเข้าใจทั้งสายปริยัติและสายปฏิบัติตามสมควร จนกระทั่งมีความรู้ความสามารถได้เป็น ครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอนพวกเราซึ่งเป็นศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย

 

ธรรมะ ๒ สาย


           ดังนั้น ในโอกาสที่ท่านทั้งหลายได้พร้อมใจกันมาสนับสนุน กิจการที่ท่านได้ดำริและก่อตั้งเอาไว้แล้ว เพื่อเจริญรอยตามและเพื่อจะให้สิ่งที่ท่านได้ปรารภเอาไว้นั้นได้สำเร็จตามความปรารถนา แล้วก็ทำการทอดกฐินเพื่อจะสนับสนุนกิจการนั้น จึงได้เป็นเครื่อง ประกาศน้ำจิตน้ำใจของท่านทั้งหลายว่า  ทุกๆ ท่านที่มีจิตศรัทธา ร่วมทอดกฐิน ณ คราวนี้ ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความกตัญูกตเวที  ท่าน  ได้ประกาศคุณธรรมอันเป็นพื้นฐานให้เกิดความดีออกมาให้เกิดแก่ โลกแล้ว ประการหนึ่ง  และยิ่งกว่านั้น ท่านทั้งหลายก็มีความสนใจ ในการศึกษาที่จะปฏิบัติธรรมในด้านสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน


           แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานนั้น จะขอกล่าวถึงคำว่า ธรรมะ   ธรรมะ ตามที่เราเข้าใจกันนั้น หมายถึงธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า  พระเถรานุเถระทั้งหลาย เมื่อท่านปรารภแสดงธรรมที่ไหนๆ ท่านก็มักจะกล่าวว่า บัดนี้อาตม-ภาพจะได้แสดงธรรมะคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเมื่อเราตั้งคำพูดประโยคนี้ ก็คล้ายๆ กับว่าธรรมะทุกสิ่งทุกอย่าง  นั้นเป็นของพระพุทธเจ้าไปเสียหมด  ดังนั้น เพื่อความเข้าใจง่าย อาตมะจึงขอแยกธรรมะออกเป็น ๒ สาย


           หนึ่ง สายสภาวธรรม  ได้แก่ ธรรมะที่มีอยู่เป็นอยู่ตั้งแต่   ดั้งเดิมมา เป็นของเก่า เป็นของโบราณ  มีมาตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด


           สายที่ ๒ คือ ธรรมะคำสั่งสอน  ได้แก่ หลักปฏิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

 

 

สภาวธรรมตกอยู่ใต้กฎไตรลักษณ์


           ในเมื่อแยกหัวข้อใหญ่ๆ ออกมาแล้วดังนี้ ท่านทั้งหลายก็ พอจะมองเห็นได้แล้วว่า ธรรมะส่วนที่เป็นสภาวธรรมนั้นเป็นของ ที่เกิดมีมาก่อนพระพุทธเจ้า


           ทีนี้ สภาวธรรมนั้น ถ้าเราจะหมายความจำกัดลงไป ได้แก่ อะไรบ้าง  ขอตอบว่าได้แก่กายกับใจของเราและสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมทั้งหลายเกี่ยวเนื่องด้วยกายและใจของเรา สิ่งเหล่านั้นเป็นสภาวธรรมทั้งนั้น


           ที่ว่าเป็นสภาวธรรมนั้นก็เพราะเป็นของมีมาตั้งแต่เก่าแก่ โบราณ จนกระทั่งไม่มีใครสามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่าสภาวธรรมนี้ มีมาตั้งแต่เมื่อไร  โลกคือแผ่นดินก็เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง สิ่งที่ เกิดขึ้นโดยรวมบนพื้นแผ่นดิน เช่น น้ำ ภูเขา รถยนต์ เป็นต้น ก็ เป็นสภาวธรรมแต่ละอย่างๆ  รวมเข้ามาใกล้ที่สุด กายและใจของ เราก็เป็นสภาวธรรม  ดังนั้น ทุกๆ ท่านที่ฟังเทศน์อยู่นี้ก็ดี หรือ  ไม่ได้มาฟังก็ดี ก็ต้องมีสภาวธรรมเป็นสมบัติของตน


           สภาวธรรมนั้นอันเกี่ยวเนื่องด้วยชีวิต ร่างกาย จิตใจของเรา สิ่งที่มันจะเป็นไปตามกฎของธรรมชาตินั้น ได้แก่ ความเกิด ความ   แก่ และความตาย  อันนี้คือหลักความจริงของสิ่งที่เกิดปรากฏขึ้น มาแล้ว  ในเมื่อเกิดปรากฏขึ้นมาแล้ว มันจะต้องมีความเจริญขึ้นๆ ความเจริญขึ้นนั่นแหละคือความแก่ ในที่สุดก็ต้องสลายตัวคือตาย   ไป  ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้นย่อมตกอยู่ในพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา


           คนเกิดมาตั้งแต่เล็กจนกระทั่งเติบโตมาถึงปัจจุบันนี้ ล้วนแต่มีความเปลี่ยนแปลงยักย้ายมาเป็นลำดับๆ  ความเปลี่ยนแปลง   ยักย้ายอันนี้ พระพุทธเจ้าว่า อนิจจัง มันไม่เที่ยง  ทีนี้ คนเรา เกิดมาแล้วมีความเจริญเติบโตขึ้นๆ อันนี้ก็คือความเปลี่ยนแปลง ในฝ่ายข้างเจริญ  อนิจจังในฝ่ายข้างเจริญขึ้นนี้ทุกคนก็ชอบ แต่ใน เมื่อมันเจริญถึงที่สุดแล้ว มันก็มีความเปลี่ยนแปลงในข้างเจริญลง ซึ่งเราเรียกว่า "ความแก่"   ความเปลี่ยนแปลงข้างเจริญลงนี้ ทุกๆ คนไม่ชอบ  แต่จะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม กฎของธรรมดา ย่อมมีการเปลี่ยนไปอย่างนั้น


           อันนี้แหละคือกฎของสภาวธรรม ซึ่งมีอันเป็นไปตามกฎธรรมชาติ

 

การปรับปรุงสภาวธรรมด้วยไตรสิกขา


           เมื่อพระองค์ได้ทรงพิจารณารู้แจ้งเห็นจริงแล้วจึงทรงรู้ชัด ว่า สภาวธรรมของแต่ละบุคคลนั้น ถ้าปล่อยให้เพียงเกิดแล้วก็แก่ แก่แล้วก็ตาย กันอยู่อย่างนี้ ซึ่งเป็นไปตามบุญตามกรรม ไม่ได้ สร้างคุณงามความดีอะไร  ไม่ปฏิบัติดี ไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่าง    หนึ่ง ก็เป็นที่น่าสงสารสังเวชเป็นอย่างยิ่ง  ดังนั้น ในเมื่อพระองค์รู้ ความจริงของกฎของสภาวธรรมที่มีอันเป็นไปในกฎของพระไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา  ในเมื่อรู้ชัดแจ้งเช่นนี้       พระองค์ย่อมทรงทราบกฎหรือระเบียบที่จะพึงกล่อมเกลาสภาวธรรมให้มีสภาพดียิ่งขึ้น สิ่งที่กล่อมเกลาหรือปรับปรุงสภาวธรรม ให้มีสภาพดียิ่งขึ้นนั้น ตามหลักพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงเทศน์ไว้ ก็ได้แก่


      ๑. ศีล การรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อยปราศจากโทษที่ พึงล่วงทางกาย ทางวาจา
      ๒. สมาธิ การตั้งใจมั่น หรือมั่นใจต่อการทำความดี
      ๓. ปัญญา ความรอบรู้ คือ รู้รอบในสภาวธรรม ที่จะเป็น ไปตามกฎของธรรมชาติ ของธรรมดา

      ในเมื่อพระองค์ทรงทราบเช่นนี้ ย่อมทรงบัญญัติหลักการ ปฏิบัติไว้ ซึ่งเรียกว่า ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

 


ศีลคือภาชนะทองรองรับธรรม


           การรักษาศีล  ท่านทั้งหลายก็ได้สมาทานศีล ๕ มาแล้ว   ทุกๆ ท่านเมื่อสมาทานศีล ๕ แล้ว กายและวาจาของท่านก็เป็น กายและวาจาที่สะอาดปราศจากโทษนับจำเดิมตั้งแต่เวลาที่ท่าน สมาทานศีลเป็นต้นมา  ดังนั้น ทุกๆ ท่านจึงเป็นผู้มีความบริสุทธิ์     สะอาดในทางร่างกายและวาจา  ในเมื่อมีความสะอาดกายและวาจา เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์แล้ว ร่างกายของท่านก็ดี จิตใจของท่านก็ดี จึงเป็นเสมือนหนึ่งภาชนะทอง สิ่งที่สมควรจะรองรับธรรมอันบริสุทธิ์สะอาดของพระพุทธเจ้า

 

น้อมธรรมะไว้ในกายในใจด้วยสมาธิและปัญญา


           แต่ว่าอุบายที่จะพึงน้อมเอาธรรมคำสอนเข้าไปไว้ในกาย  ในใจนั้น ตามหลักพระพุทธศาสนานั้นจะหนีไปจากหลักปฏิบัติ สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานไปไม่ได้ แต่ว่าการปฏิบัติ สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานนั้น ย่อมมีหลายแบบ หลาย    อย่าง  เพียงแต่อารมณ์ของสมถกรรมฐาน ก็มีถึง ๔๐ อย่าง   

            ในเมื่อพูดถึงอารมณ์ของสมถกรรมฐานมีถึง ๔๐ อย่าง ท่าน ผู้ฟังบางท่านอาจจะรู้สึกหนัก หรือหนักใจว่ากรรมฐานมีถึง ๔๐   อย่าง เราจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะครบถ้วน  อย่าพึงท้อใจอย่างนั้นเลย  แม้ว่าอารมณ์ของกรรมฐานจะมีถึง ๔๐ อย่าง เราปฏิบัติ อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นคู่ของใจ เมื่อทำให้เกิดให้มีขึ้นในจิตในใจแล้ว  ผลที่จะพึงเกิดขึ้นนั้น แม้เราทำซ้ำๆ ๔๐ อย่าง ก็ย่อมมีสภาวะเหมือนกัน

 

สภาวจิตในสมถกรรมฐานมีหนึ่งเดียว


           ดังนั้น เมื่อพูดถึงตอนนี้ ก็ใคร่จะขอแก้ความเข้าใจหรือ    ทำความเข้าใจกับบรรดาท่านทั้งหลาย ซึ่งท่านทั้งหลายก็สนใจใน การปฏิบัติธรรมในทางด้านสมถวิปัสสนากันอยู่มาก แต่มีปัญหา ยุ่งยากอยู่มากสำหรับในสมัยปัจจุบันนี้  เนื่องจากว่าคณาจารย์ผู้สอน พระกรรมฐานนั้นย่อมมีหลายแบบหลายอย่าง  บางทีฟังๆ ดูมติ   ของแต่ละอาจารย์ ฟังดูแล้วก็คล้ายๆ กับมีความขัดแย้งกันอยู่ในตัว  ดังนั้น จึงเป็นที่หนักใจสำหรับผู้ที่จะเริ่มปฏิบัติใหม่  แต่ฟังๆ ดูแล้ว บางท่านก็ว่า ของข้าพเจ้านี้ดีวิเศษนักหนา ของท่านเหล่า  นั้นใช้ไม่ได้ เป็นต้น  จึงทำให้ผู้ที่จะเริ่มปฏิบัตินั้นมีความฉงนสนเท่ห์ ในจิตในใจ ไม่ทราบว่าจะยึดอะไรเป็นหลัก


           อันนี้อาตมะขอทำความเข้าใจกับท่านทั้งหลายว่า บรรดาอารมณ์ของกรรมฐานที่จะมาเป็นคู่ของใจนั้นจะเอาอะไรก็ได้ ปัญหา สำคัญขอให้เราตั้งใจแน่วแน่  และคอยสังเกตอารมณ์อันเป็นคู่ของใจนั้น  เมื่อเราบริกรรมภาวนาหรือพิจารณาแล้วสามารถทำให้ สภาพจิตของเราเปลี่ยนจากปกติธรรมดา มีความโน้มเอียงไปข้าง ฝ่ายสงบ และมีปีติ มีสุขได้  อารมณ์กรรมฐานอันนั้นเป็นอารมณ์ ที่ใช้การได้  นี่ก็ทำความเข้าใจไว้ง่ายๆ อย่างนี้

 

           ถ้าจะพูดถึงว่าการทำกรรมฐานในขั้นสมถะนี้ อย่าว่าแต่ ชาวพุทธจะมานั่งบริกรรมภาวนา พุทโธ พุทโธ  หรือ ยุบหนอ- พองหนอ เลย  แม้ชาวศาสนาอื่นซึ่งเขามีการทำสมาธิภาวนา เช่น ศาสนาคริสต์ เขาอาจจะนึกถึงพระเป็นเจ้าของเขา แล้วบริกรรม ภาวนานึกถึงชื่อพระผู้เป็นเจ้าของเขาอยู่อย่างนั้น ในเมื่อจิตเกิด เป็นสมาธิก็ย่อมมีลักษณะที่อยู่ในกฎเกณฑ์แห่งวิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา เช่นเดียวกัน  ศาสนาพราหมณ์เขาก็เคยภาวนามา ตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้ายังไม่ได้ตรัสรู้


           ดังนั้น สภาวจิตของนักปฏิบัติตั้งแต่ฌานขั้นที่ ๑ ถึงที่ ๔  นั้นย่อมมีลักษณะอย่างเดียวกัน เพราะวาระแรกของการภาวนานั้น  ทุกท่านจะต้องนึกถึงอารมณ์เป็นคู่ของใจ เช่น พุทโธ เป็นต้น เรียกว่า วิตก  เมื่อจิตกับพุทโธพร้อมกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่สามารถจะแยกจากกันไปได้ จนจิตกับพุทโธมีความสัมพันธ์กัน อย่างแน่วแน่ แล้วก็มีอาการสงบลงไปโดยอัตโนมัติ ไปจนกระทั่ง เกิดปีติและมีความสุข  ในเมื่อจิตมีความสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง จิตก็ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย ย่อมมุ่งหน้าต่อความสงบ  เริ่มต้น      ตั้งแต่อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ เป็นลำดับๆ ไป  ทำไมจึง ไม่พูดถึงขณิกสมาธิด้วย  เพราะขณิกสมาธินั้น สมาธิแม้ผู้ไม่เคย ภาวนาก็มีได้ชั่วขณะหนึ่ง จึงไม่กล่าวถึง  สมาธิของนักภาวนานั้น     จะมีได้ก็คืออุปจารสมาธิแล้วก็อัปปนาสมาธิ เป็นลำดับๆ ไป

 


หลวงปู่เสาร์สอนภาวนาง่ายๆ

           ในสมัยก่อนนี้ อาตมภาพเคยอยู่ในสำนักของท่านอาจารย์เสาร์  ท่านอาจารย์เสาร์สอนกรรมฐานนั้น ท่านสอนง่ายๆ
           ถ้าหากมีท่านผู้ใดมาขอเรียนกรรมฐานจากท่าน ถามว่า   "ท่านอาจารย์ อยากจะภาวนาจะทำอย่างไร"
           ท่านอาจารย์เสาร์จะบอกว่า "ภาวนา 'พุทโธ' ซิ"
           "เมื่อภาวนาพุทโธแล้ว จะเป็นอย่างไร"
           ท่านจะบอกว่า "อย่าถาม"  นี่ ท่านอาจารย์เสาร์บอกอย่างนี้   

          แล้วท่านจะย้ำให้ภาวนาหนักๆ  และทำให้มากๆ  ทำให้  จริงจัง  และจะไม่ยอมอธิบายเหตุผลใดๆ ทั้งนั้น  แต่ถ้าท่านผู้ใด  ตั้งใจทำจริง  ภาวนา พุทโธ พุทโธ พุทโธ จริงๆ  เมื่อจิตสงบลง ไปแล้วเกิดสว่างขึ้น หรือสามารถรู้เห็นอะไรขึ้นมา ท่านก็มักจะบอกว่าให้ทำไปเรื่อยๆ  นี่ ถ้าถูกต้องแล้ว ท่านบอกให้ทำไปเรื่อยๆ


           แต่ถ้าท่านผู้ใดมาเล่าให้ท่านฟังว่า เมื่อภาวนาแล้วจิตสงบ สว่างลงไป แล้วมีนิมิต เห็นคน เห็นสัตว์ เห็นเทวดา  ท่านจะบอก ว่า นั่น! เมื่อภาวนาจิตสงบลงไปแล้ว จิตส่งออกไปข้างนอก  ใน เมื่อจิตส่งออกไปข้างนอก อุปาทานมันไปยึดถืออยู่ที่ไหน อย่างไร  นึกถึงคนก็เกิดภาพคนขึ้นมา นึกถึงผี ก็เกิดภาพผีขึ้นมา นึกถึง เทวดาก็เกิดภาพเทวดาขึ้นมา อันนั้นเป็นวิถีจิตที่ส่งกระแสออกไปข้างนอก


           ท่านบอกว่าอย่าไปตื่นหรือไปยินดียินร้ายกับนิมิตที่เห็นเหล่านั้น เพราะนิมิตที่เห็นเหล่านั้นมีลักษณะคล้ายๆ กับมองเห็นด้วยตา  บางทีถ้าหากว่าจิตเผลอสติ ไปหลงยึดกับนิมิตภาพอันนั้น แล้วจิตวิ่งตามนิมิตภาพอันนั้นไป  สมาธิก็จะถอนจากฐานที่อยู่ในตัวของตัวเอง แล้วก็วิ่งตามภาพนิมิตไป  หลงไปเที่ยวชมนรก ชมสวรรค์ ชมสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีลักษณะเปรียบเหมือนเงา


          ท่านอาจารย์เสาร์ท่านบอกว่า ไม่ถูก  ให้พยายามกำหนด  จิตเฉยอยู่ อย่าไปยึดอย่าไปยินดียินร้ายกับนิมิตที่เห็นนั้น  ให้ พยายามน้อมจิตเข้ามาข้างใน โดยอาศัยลมหายใจเป็นสื่อ  ทำ    กระแสความรู้สึกในทางจิตให้เดินเข้ามาในตัว แล้วก็กำหนดจด จ้องดูอยู่ที่จิต และทำความรู้สึกว่า ตัวของเราอยู่ที่นี่ ไม่ได้เที่ยว เร่ร่อนไปกับผีสางเทวดาที่ไหน
 นี่ ท่านอาจารย์เสาร์ท่านสอนอย่างนี้  อันนี้เป็นเรื่องของ   การภาวนา "พุทโธ"

 

ภาวนา "พุทโธ" ไม่ได้หยุดแค่สมถะ


           และอีกนัยหนึ่ง การภาวนา "พุทโธ" บางท่านก็กล่าวว่า ภาวนาพุทโธนั้น อย่างดีก็ได้แค่สมถกรรมฐาน  อันนี้ขอท่านผู้ฟังทั้งหลายลองพิจารณาดูซิว่า นักภาวนาทั้งหลายนั้นจะพากันโง่ไป ทั้งโลกเชียวหรือ  ในเมื่อทุกๆ ท่านก็ได้ทำภาวนาพุทโธ จิตสงบลง ไปแล้ว นิ่ง สว่าง จนกระทั่งตัวตนหายไปหมด ยังเหลือแต่สภาว-จิตที่รู้ สว่างอยู่เฉยๆ  และเมื่อจิตเข้าไปตั้งอยู่ในฐานสมถะหรือ  วิปัสสนาสมาธินั้น  ถ้าจิตนิ่งอยู่อย่างนั้นตลอดไป จิตก็ไร้สมรรถ-ภาพในการที่จะเกิดความรู้ต่างๆ ขึ้นมา  แต่มีหรือที่จิตจะนิ่งอยู่ อย่างนั้นตลอดกาล  เมื่อไปนิ่งอยู่ในอัปปนาสมาธิชั่วระยะหนึ่งแล้ว จิตก็จะถอนออกจากอัปปนาสมาธินั้น  เมื่อจิตมีอาการถอนออกมา ไม่ความคิดก็ต้องลมหายใจผุดขึ้นมาในความรู้สึก นักปฏิบัติผู้ฉลาด จะฉวยโอกาสยกจิตขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนาในขณะนั้น

 

ยกจิตขึ้นภูมิวิปัสสนา
ด้วยการตามรู้ความคิดหรือพิจารณากาย


           ถ้าหากลมหายใจปรากฏขึ้นมา จิตก็กำหนดดูลมหายใจ เพราะอาศัยกำลังสมาธิที่เข้าไปอยู่ในอัปปนาแล้วถอนออกมาย่อม มีกำลังและมีความคิดอะไรเกิดขึ้นมา  จดจ้อง ตามรู้ความคิดอันนั้น รู้อยู่เฉยๆ อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ว่านี่คืออะไร อย่างไร  อะไรเกิด ขึ้นกำหนดรู้อยู่ที่จิต ไม่ต้องไปคิดว่านี่คืออะไร หรือนี่เป็นนั่น นั่น  เป็นนี่ เพียงแต่กำหนดรู้อยู่ที่จิตเท่านั้น

          ทำไมจึงต้องทำอย่างนั้น  เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิต จิตเป็น ผู้ปรุงแต่งขึ้นมาเป็นอารมณ์เครื่องรู้ของตน  เมื่อนักปฏิบัติเกิด ความคิดขึ้นมาแล้ว กำหนดตามรู้ความคิดที่เกิดขึ้นมานั้นแล้ว  จิตจะยึดเอาสิ่งที่รู้ภายในจิตนั้นเป็นอารมณ์เรื่อยไป  หรือบางทีถ้า หากจิตไม่ยึดเอาความคิดนั้นเป็นอารมณ์เครื่องรู้ จิตอาจจะวิ่งเข้า มาภายในตัวเอง  แล้วก็มาค้นคว้าเฝ้าดูอยู่ภายในโดยอัตโนมัติ


           ตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้  มีท่านนักปฏิบัติผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นโยม ผู้หญิงมาจากกรุงเทพพระมหานคร  มาถามปัญหาและเล่าความ เป็นไปของเขาว่า เขานั่งสมาธิภาวนา แล้วพอกำหนดจิตลงไป    จะมองเห็นโครงกระดูกเกิดขึ้น แต่แล้วโครงกระดูกนั้นจะวิ่งเข้า มาพาดตัวของเขาเอง แล้วโครงกระดูกนั้นหายไป กลายเป็นตัว ของเขาเอง  แล้วจิตผู้รู้ก็จะค้นคว้าพิจารณาดูร่างกายของเขาทั้ง หมด เริ่มตั้งแต่ดูหนัง ดูเนื้อ และดูโครงกระดูก ดูส่วนต่างๆ ของ ร่างกาย รู้เห็นไปหมด จนกระทั่งในที่สุดร่างกายของเขาก็ปรากฏ เหลือแต่โครงกระดูก แล้วโครงกระดูกก็หลุดออกจากกันหักเป็น  ท่อนน้อยท่อนใหญ่ ในที่สุดกระดูกทั้งหมดก็แหลกละเอียดเป็นผง หายไปในแผ่นดิน  ยังเหลือแต่สภาวะจิตที่จิตสงบ ว่าง สว่าง ไม่มี นิมิตเครื่องหมายอะไรในขณะนั้น  แล้วจิตของเขาที่ผ่านนิมิตที่  เป็นมาอย่างนี้ นิมิตที่มองเห็นรู้ด้วยจิตนั้นไม่ได้เกี่ยวกับประสาท ทางตาแม้แต่ประการใด เป็นเรื่องของความรู้ที่เกิดขึ้นในจิตโดยเฉพาะ  แล้วเขามาถามว่าอาการที่มันเป็นอย่างนี้มันจะเป็นอย่างไร   

 

          อาตมาก็เฉลยว่า  อาการที่เป็นอย่างนี้  จิตของคุณนั้น พิจารณาดูอสุภกรรมฐานในเบื้องต้น แล้วในที่สุดธาตุววัฏฐานมัน ก็ปรากฏมาพร้อมกัน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่มันแหลกละเอียด สลายลงไปนั้น มันคงบอกว่ามันหายลงไปในพื้นแผ่นดิน  มันก็ แสดงให้คุณรู้เห็นแล้วว่า ร่างกายของคุณทั้งหมดนี้ มันคือธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันอยู่  คำว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่มี  ที่เรียกว่า คน สัตว์ นั้นเป็นไปตามภาษาสมมติบัญญัติ ของโลก โลกเขาพากันเรียกกัน แล้วบัญญัติชื่อขึ้นมาเรียกกัน  ใน เมื่อเขาบัญญัติชื่อขึ้นมาเรียกกันอย่างนั้นแล้ว เขาก็ไปหลงสมมติ บัญญัติของตัวเอง  สำคัญว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น  เป็นตัว เป็นตน  เป็นเรา เป็นเขา  เป็นของเรา เป็นของเขา

 

จิตทิ้งกายมารู้อยู่ที่จิต


           อาตมาก็ย้อนถามเขาว่า ในเมื่อร่างกายของคุณแหลกละเอียดลงไปแล้วเช่นนั้น ตัวคุณหายไปแล้ว ค้นหาตัวคุณซิ หาย ไปไหน  เขาบอกว่า เหลือแต่สภาวจิตผู้รู้ ใสสะอาด สว่างอยู่  เท่านั้น ส่วนตัวตนที่เป็นร่างกายนี่หายไปหมดแล้ว


           ดังนั้น คุณก็เข้าใจได้แล้วว่า ในร่างกายของคุณนั้นมันไม่มี   ตัวไม่มีตน  จิตกับกายแยกออกจากกันแล้วมันก็ไม่มีอะไรเหลือ กายก็สลายไปตามสภาพเดิมของมัน  ส่วนที่จะเป็นดิน เป็นน้ำ เป็น ลม เป็นไฟ ก็เป็นไปสภาพเดิมของมัน  ส่วนที่เป็นตัวจิต ตัวผู้รู้ซึ่ง เป็นธาตุแท้ เป็นธาตุอมตะ คือ ตัวพุทธะ ย่อมปรากฏเด่นชัดอยู่ เสมอ  เมื่อจิตที่เป็นตัวพุทธะนั้นปรากฏเด่นชัดอยู่เสมอ เขาก็รู้อยู่ เฉพาะตัวของตัวเอง


           ในบางขณะนั้น เขาก็จะย้อนกลับมาดูร่างกาย อันเป็นส่วนวัตถุ  มองเห็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันอยู่พร้อม      เป็นตัวเป็นตน  ในขณะที่จิตย้อนมาดูร่างกายคือธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันนั้น  การที่จิตรู้เด่นชัดอยู่ที่เฉพาะตัวของตัวเอง ซึ่ง ยังไม่มีสิ่งรู้ปรากฏขึ้น อันนี้จิตมันก็รู้นาม เป็นตัวของมันเอง  ทีนี้ ถ้าจิตมีกำลังแก่กล้าพอที่จะปฏิวัติตนไปสู่ภูมิความรู้อันเป็นสภาว-ธรรมส่วนละเอียด ก็ย่อมจะทำให้จิตรู้เห็นอารมณ์  และอารมณ์ อันนั้นปรากฏมาจากไหน ก็มาจากจิตตัวผู้ปรุง สังขารส่วนละเอียด มันปรุงจิต  ตัวผู้รู้คือพุทธะนั้น ย่อมเด่น สว่างไสว ใสบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นเท่านั้น

 

ศีล สมาธิ ปัญญา ประชุมพร้อม


           ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็มีลักษณะที่จะพึงสังเกตดูความรู้สึก ของเราทั้ง ๒ ขั้นตอน  ตอนแรก จิตของเราดูวัตถุคือการสลายตัว ของร่างกาย  มีวัตถุปรากฏอยู่ เป็นต้นว่าโครงกระดูกเป็นต้น  ใน  ขณะที่จิตรู้อยู่นั้น โครงกระดูกหรืออะไรมันเปลี่ยนแปลงไปตาม     ระยะ  หรือบางขณะที่มันเป็นไปนั้น คล้ายๆ กับเป็นตัวผู้รู้ ไม่ได้สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลง  ร่างกายที่เน่าเปื่อยผุพังลงไปเป็นขั้น  ตอน จิตก็เพียงแต่รู้อยู่เฉยๆ  คล้ายๆ กับว่าสิ่งที่เกิดกับตัวรู้กับ  ตัวจิตเองนั้นแยกกันเป็นคนละคนหรือคนละส่วน  และเมื่อจิต      ปฏิวัติตัวสู่ภูมิแห่งความละเอียดคือตัวผู้รู้ หรือในขั้นที่จิตรู้นาม รู้นามธรรมคือรู้สิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตและรู้สิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิต เป็นตัวรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นอะไรก็ตาม แต่หากปรากฏว่า เป็นเครื่องรู้ของจิตแล้ว  ความรู้สึกของผู้มีภูมิจิตนี้ จะมีลักษณะเหมือนหนึ่งว่า จิตก็อันหนึ่ง ตัวที่ให้จิตรู้ก็อันหนึ่ง แยกกันออก เป็นคนละส่วน

           ลักษณะที่เป็นอย่างนี้ เพราะอาศัยอำนาจแห่งการประชุม ๓ แห่งอริยมรรค  ในที่นี้ ศีล สมาธิ ปัญญา ประชุมพร้อมที่นี่  เมื่อ  จิตของท่านผู้ใดมีลักษณะดังกล่าว จิตของผู้นั้นได้ชื่อว่า มีอธิศีล มีอธิจิต มีอธิปัญญา ประชุมพร้อมที่ดวงใจ  ในเมื่อ ศีล สมาธิ      ปัญญา ประชุมที่ดวงใจพร้อมเป็นหนึ่ง จิตมีสภาวะเป็นกลางปรากฏ อยู่ตลอดเวลา  อะไรที่เกิดขึ้นมาภายในจิต จิตไม่หวั่นไหวไป ตามสิ่งนั้น  สักแต่ว่ารู้อยู่เฉยๆ แล้วก็ปล่อยวางไปโดยอัตโนมัติ   สิ่งที่รู้ สิ่งที่ให้รู้ ปรากฏขึ้นก็ดี  หรือสภาวะผู้รู้ก็ดี ในขณะนั้นทุกสิ่ง ทุกอย่างมันปฏิวัติของมันไปเอง  ตัวภูมิธรรม ตัวภูมิความรู้โดย    อัตโนมัติ และผู้ปฏิบัติ ไม่ได้ตั้งเจตนาสัญญาที่จะให้เป็นไปอย่าง     นั้น แต่หากว่ามันเป็นไปเอง  ด้วยอำนาจแห่งศีล สมาธิ ปัญญา ที่เราอบรมดีแล้วนั้น ย่อมปฏิวัติจิตไปสู่ภูมิความรู้ซึ่งเรียกว่าพุทธะ  นี่คือพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในจิตในใจของนักปฏิบัตินั้นแล้ว  ดังนั้น ทุกๆ ท่านที่ฟังธรรมอยู่นี่ ทุกๆ ท่านพึงเข้าใจว่า ทุกท่านมีพุทธะ คือผู้รู้อยู่ในจิตในใจ

 

ธาตุแท้แห่งความเป็นพุทธะอยู่ที่ใจ


            พระพุทธเจ้ามีพระกายและมีพระทัย  หรือว่าอย่างง่ายๆ ก็คือ กาย ใจ  พระพุทธเจ้ามีกาย มีใจ  พระองค์ทรงเอาใจเป็น เครื่องพิจารณากายให้รู้ความเป็นจริงของกาย  ในลักษณะแห่ง ความเป็นปฏิกูล  หรือเป็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ  ในขั้นวิปัสสสนา ในลักษณะแห่งพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  จนสามารถ ตรัสรู้ความจริงคืออริยสัจธรรม ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อย่าง เด่นชัด  แล้วก็ได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เพราะอาศัย ที่พระองค์มีใจรู้อยู่ที่พระกายนั่นเอง

           ดังนั้น เราทุกคนมีกายกับใจเป็นสมบัติของตัวเราเอง โดย เฉพาะเรามีใจ  ใจเป็นธาตุแท้แห่งความเป็นผู้รู้ ผู้ใดมีใจผู้นั้นได้    ชื่อว่ามีธาตุแท้แห่งความเป็นพุทธะอยู่ในตัว ถ้าท่านสามารถจะกำหนดบริกรรมภาวนาหรือพิจารณาอะไรก็ตาม เมื่อจิตสงบนิ่งลง เป็นสมาธิ เกิดสว่างขึ้น มีสภาวะตัวผู้รู้เด่นชัดอยู่ในใจของท่านนั่นแหละคือ พุทธะ ผู้รู้  พุทธะ ผู้เบิกบาน  เกิดขึ้นในใจของท่าน แล้ว โดยวิธีกำหนดดูภูมิจิตในการปฏิบัติ  ซึ่งกำหนดตามที่บรรยาย มานี้

 

ให้มี "พุทโธ" เป็นที่พึ่งของจิต


           และอีกนัยหนึ่ง ขอย้ำเตือนว่า คนเราเกิดมาแต่ละครั้งแต่  ละทีนั้นเป็นของยากกว่าจะได้ชีวิตเป็นคน และการได้พบธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ยากลำบาก  ดังนั้น ทุกๆ ท่านควรจะหา ที่พึ่งทางใจให้ได้คนละอย่าง จะเอาอะไรก็ได้


           แต่อาตมาขอเสนอแนะว่า ให้เอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก  การที่เอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกนั้น  เราอาจจะนึกว่า พุทโธ ธัมโม       สังโฆ  แล้วก็มานึกเอา พุทโธ พุทโธ พุทโธ คำเดียว  ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด  ช่วงไหนพอที่จะนึกพุทโธได้ ก็นึก  พุทโธ พุทโธ พุทโธ เป็นประจำ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งญาติโยมซึ่ง อยู่ในชนบทนั้น มีการศึกษาน้อย มีความเข้าใจน้อยในเรื่องของ ธรรมะ อาตมาจึงขอเสนอแนะให้ยึดเอาหลักง่ายๆ  ให้เอาพุทโธ เป็นสรณะที่พึ่ง ท่านจะทำอะไรอยู่ก็ตาม ให้ท่านนึกพุทโธ พุทโธ พุทโธ เป็นกิจประจำ  นึกอยู่อย่างนั้นแหละ


           ในเมื่อนึกพุทโธแล้ว ถึงแม้ใจไม่สงบ มันก็ยังเกิดผลพลอยได้ คือ มีพุทโธเป็นพุทธานุสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า เป็นกามา-วจรกุศล  แล้วอีกนัยหนึ่ง ถ้าหากว่าท่านนึก พุทโธ พุทโธ พุทโธ ติดต่อกัน ๑ นาที ช่วงนั้นจิตของท่านจะไม่มีโอกาสส่งไปสร้างบาป สร้างกรรมอย่างอื่น  ถ้าท่านเพิ่มขึ้นเป็น ๒ นาที  ๓ นาที  ๒๐ -๓๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมงแล้ว พุทโธติดต่อกันอยู่อย่างนั้นไม่ว่าง เว้น จิตของท่านก็ไม่สามารถส่งกระแสไปสร้างบาปสร้างกรรมใน ทางอื่น ล้วนแต่สร้างบุญกุศลคือนึกอยู่แต่พุทโธเท่านั้น  ถ้าหากว่าท่านสามารถนึกพุทโธได้ตลอดชีวิตของท่าน จิตของท่านจะไม่สามารถส่งกระแสไปสร้างบาปสร้างกรรมทางอื่น จะสร้างแต่บุญ แต่กุศล  คือพุทโธนี่คืออุบายที่จะหาที่พึ่งในทางจิต  ให้พากันนึก พุทโธ พุทโธ พุทโธ เข้าไว้ ให้จิตกับพุทโธติดกัน แนบสนิทกัน อย่างแนบแน่น  อย่างบางทีเราไม่ได้ตั้งใจที่จะนึก แต่เผลอๆ ไป ทำอะไรพลาดเข้าแล้ว จิตนึกพุทโธโดยอัตโนมัตินั่นแหละยิ่งดี


           ที่ขอแนะนำอย่างนี้ก็เพราะเหตุว่าเคยได้เห็นผู้เฒ่าผู้แก่ตาม บ้านนอกทั้งหลาย เวลาจวนใกล้จะตาย ลูกหลานให้คำแนะนำให้ คำตักเตือน หรือให้สติ เตือนสติว่า "ยาย นึกถึง 'พุทโธ' นะ"  ด้วยทุกขเวทนาซึ่งเกิดขึ้นจากความเจ็บป่วยมันครอบงำ แกก็ไขว่คว้า หาหยิบโน่น หยิบนี่  ไปหยิบได้วัตถุอันหนึ่งก็ยกชูขึ้น แล้วถาม หลานๆ ว่า นี่หรือพุทโธ  นี่ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว มันก็แย่หน่อย เพราะฉะนั้น ได้เห็นตัวอย่างและประสบการณ์มาแล้ว จึงได้นำ มาเป็นคติเตือนใจสำหรับบรรดาท่านทั้งหลาย อันนี้คืออุบายที่จะเข้าถึงพุทโธ

 

อสุภกรรมฐานในสมถกรรมฐาน


           ถ้าหากเราสามารถนึกพุทโธแล้วจิตสงบสว่างลงไปเป็นสมาธิตามลำดับขั้น เราสามารถที่จะทรงตัวอยู่ในสมาธิได้เป็นเวลานานๆ นั่นคือจิตของเราถึงพุทโธ ธัมโม สังโฆ อย่างแท้จริง  สมาธินี่ทำ ไปเถอะ แม้ว่าเวลาค่ำวันนี้เราจะภาวนาจิตไม่สงบก็ตาม จิตของ เราจะสะสมกำลังเอาไว้ทีละน้อยๆ ในเมื่อได้จังหวะพร้อมขึ้นมา เมื่อไร ความสงบจะเกิดขึ้น

           อาตมาเคยนั่งภาวนาอยู่ตั้ง ๑๐ ชั่วโมง อยากจะรู้ว่าความ ตายคืออะไร  ตลอดเวลา ๑๐ ชั่วโมงนั้น ความรู้ความเห็นอะไรไม่เกิด  อย่าว่าแต่ความรู้ความเห็นจะเกิดเลย แม้แต่ความสงบสักนิด ก็ไม่มี มีแต่ความฟุ้งซ่านรำคาญ  แต่ตั้งใจแน่นอนว่าจะนั่งภาวนา ดูความตาย ก็อดทน ไม่อย่างนั้นแล้วก็ไม่เกิดผลอะไร  

 

         ทีนี้เมื่อจวนจะสว่าง รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเต็มที ก็เอนกาย นอนลงไปด้วยความทอดอาลัยตายอยาก  แต่วิสัยของนักปฏิบัติ  นั้น จะนอนตายเปล่าๆ โดยไม่นึกถึงอะไร  นั่นย่อมเป็นไปไม่ได้  เพราะเราเคยกำหนดดูลมหายใจหรือสิ่งที่รู้ในจิตในใจมาจนชำนิ ชำนาญแล้ว ก็ย่อมมีการกำหนดลมหายใจเข้าออก  พอเกิดมีการ เคลิ้มหลับลงไป จิตก็พุ่งออกจากร่างกาย แล้วก็ส่งรัศมีมาดูร่างกาย ซึ่งนอนยาวเหยียดอยู่ 

           ในระยะแรกก็มองเห็นผ้าสบง จีวร ห่มอยู่ในตัวเรียบร้อย ในท่าที่นอนอย่างสบายๆ  แต่ในเมื่อจิตรู้จริงเห็นชัดขึ้นมาแล้ว    สบง จีวร ไม่มี  ปรากฏว่ามีแต่ร่างกายเปล่าๆ  ในเมื่อมาพิจารณา ดูแล้ว ช่างสมกับคำที่ว่า คนเรานี่ เวลามาก็มาแต่ตัว เวลาไปก็ไป แต่ตัวเปล่าๆ  เมื่อจิตมันแสดงอาการตายให้ดูแล้ว มันเป็นอย่างนั้น


           ในอันดับต่อไป ร่างกายก็เริ่มขึ้นอืด แล้วมีน้ำเหลืองไหล เหี่ยวแห้งไป เนื้อหลุดออกหมด ยังเหลือแต่โครงกระดูก  แล้ว    โครงกระดูกก็สลายตัวไป จึงยังเหลือแต่ผงกระดูก มองเห็นแต่     เป็นผงโปรยอยู่บนพื้นดิน  ผลสุดท้าย ผงกระดูกนั้นก็หายวับไปใน แผ่นดิน  ในขณะนั้นมองไม่เห็นอะไรเลย โครงกระดูกก็ไม่มี  ใน ที่สุด แผ่นดินที่มองเห็นก็หายไป ยังเหลือแต่สภาวจิตที่ใสสะอาด บริสุทธิ์อยู่อย่างนั้น  แล้วภายหลังผงกระดูกก็ผุดขึ้นมาอีก แล้วต่อ กันเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ ประสานกันจนเป็นกระดูกเต็มส่วน

 

            ในระยะแรก กระดูกศีรษะกระโดดพรึบเข้ามาวางลง กระดูก คอ กระดูกสันหลัง กระโดดเข้ามาต่อติดกันตามหน้าที่  กระดูกสะโพก กระดูกหัวไหล่ กระดูกแข้ง กระดูกขา กระดูกมือ กระโดด เข้ามา จนประสานกันเป็นโครงร่างมองเห็นขาวสะอาด  แล้วเมื่อ โครงกระดูกมันต่อกันเป็นโครงร่างขึ้นมาแล้ว เนื้อเริ่มงอกขึ้นมา ตามโครงกระดูกทีละน้อยๆ กระทั่งสมบูรณ์เต็มที่  แล้วหนังก็ เกิดขึ้นมา แล้วขนก็ปรากฏขึ้นมา จนกระทั่งมีร่างกายสมบูรณ์ เต็มแล้ว แต่ก็มองเห็นเปลือยเปล่าไม่มีอะไรปกปิด  นี่คือการ ตายที่ปรากฏขึ้นในนิมิต

           และในขณะที่นิมิตปรากฏนั้น ในตัวไม่มีความรู้สึก จิตก็ยังอยู่อีกส่วนหนึ่ง ร่างกายที่เป็นเครื่องรู้ของจิตก็อยู่อีกส่วนหนึ่ง คล้ายๆ กับไม่มีส่วนสัมพันธ์กันเลย  อันนี้คือนิมิตที่เกิดขึ้นใน     ขณะที่ปฏิบัติสมถะ ในส่วนที่เป็นอสุภกรรมฐาน หรือในส่วนที่เป็น สมถกรรมฐาน

 

 

อสุภกรรมฐานปฏิวัติไปสู่วิปัสสนากรรมฐาน


           ทีนี้อาศัยสิ่งที่รู้ที่เห็นดังนี้ จิตจะสามารถปฏิวัติไปสู่ภูมิของ วิปัสสนากรรมฐานได้หรือไม่


           โดยปกติธรรมดาแล้ว ถ้าหากจิตมองดูแต่ส่วนที่ร่างกายที่ สลายตัวไปตามที่กล่าวแล้ว รู้อยู่เฉยๆ แล้วก็มีความรู้เพียงแค่นั้น อันนี้ก็เป็นภูมิรู้แค่ขั้นสมถกรรมฐานเท่านั้น         

           แต่ถ้าหากว่าจิตสามารถปฏิวัติความรู้ โดยเอาความสลาย  ตัวของร่างกายที่ปรากฏนั้นเป็นเครื่องรู้ แล้วปฏิวัติภูมิรู้ไปสู่พระไตรลักษณ์ สำคัญมั่นหมายในอนิจจสัญญาบังเกิดขึ้น คือ สำคัญ  มั่นหมายว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อมองเห็นสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยงแล้ว     ทุกขัง อนัตตา ไม่ต้องนึกถึง ก็เป็นอันรู้ไปเอง  เพราะของ ๓ อย่าง นี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน  รู้อนิจจัง ก็รู้ทุกขัง อนัตตา  รู้อนัตตา ทุกขัง ก็รู้อนิจจัง  อันนี้เป็นเรื่องปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน จิตของผู้ที่ปฏิบัติ  และทุกสิ่งทุกอย่างนั้นล้วนแต่เป็นไปโดยอัตโนมัติ ผู้รู้ก็รู้อยู่เองโดยอัตโนมัติ สิ่งที่เป็นเครื่องรู้ก็มีปรากฏ การณ์อยู่โดยอัตโนมัติ อันนี้เรียกว่า สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ ผู้รู้ก็รู้อยู่ สภาวะที่เปลี่ยนแปลงหรือปรากฏการณ์ให้เห็นอยู่ก็มีอยู่  ดังนั้น ครูบาอาจารย์ท่านมักจะพูดในตอนนี้ว่า เป็นสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ สัก แต่ว่ามีอยู่ เป็นอยู่ เท่านั้น

 

เห็นการเกิด-ดับ


           ทีนี้ ถ้าหากว่าจิตละวางจากการเพ่งพิจารณาดูรูปโดย      อัตโนมัติตามที่กล่าวมาแล้ว โลกที่ปรากฏการณ์เป็นเครื่องรู้หาย ไปหมด ก็ยังเหลือแต่จิตซึ่งเป็นตัวนาม  ตอนนี้นามธรรมย่อมจะเกิดขึ้นภายในจิตอันเป็นส่วนละเอียด  และคล้ายๆ กับจิตนั้นนิ่ง      ละเอียดอยู่เฉยๆ  ส่วนที่รู้ก็ปรากฏการณ์ขึ้นอยู่ แต่ไม่สามารถที่     จะเรียกว่าอะไร  จิตตัวผู้รู้ก็มีอยู่ สิ่งให้รู้ก็มีปรากฏอยู่อย่างนั้น   เพราะจะเรียกว่าอะไรก็เรียกไม่ถูก  ดังนั้น ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อม มีความดับไปเป็นธรรมดา"  ที่เรียกว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น ก็เพราะ       สัจธรรมของจริงที่ปรากฏขึ้นในจิตนั้น ย่อมไม่มีสมมติอันใดที่เรา      จะไปเรียกว่าอะไรเป็นอะไรทั้งนั้น


          อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่ปรากฏขึ้นภายในความรู้ของนัก ปฏิบัติ ก็มีสภาวะที่มีอยู่เป็นอยู่  คำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ ปรากฏขึ้นขณะที่จิตรู้เห็นความเป็นจริง  ดังนั้น ศัพท์หรือคำที่ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือพระไตรลักษณ์นั้น ถ้าหากว่าจิตรู้ แล้ว ไม่มีสมมติบัญญัติ พระพุทธเจ้าเอาภาษาอะไรมาพูด  ควรทำความ เข้าใจว่า เมื่อจิตของพระพุทธเจ้าถอนออกมาจากสภาวะรู้พระ  ไตรลักษณ์อย่างจริงจังแล้ว เมื่อจิตมีอาการไหวขึ้น ความคิด     ประหลาดมันจะเกิดขึ้น คือ สมมุติบัญญัตินั้นเอง  แล้วมันจะเกิด "อ้อ!" ขึ้นมาว่า อ้อ! พระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นอย่างนี้


           และอีกอย่างหนึ่ง บางครั้งจิตก็อาจจะถอนออกมาเฉยๆ แล้วไม่มีความสำคัญมั่นหมายอะไร  เมื่อจิตถอนออกมาสู่สภาพ ปกติแล้ว โดยวิสัยของผู้รู้ เมื่อเกิดอะไรภายในจิตในใจนั้น เมื่อ จิตถอนออกมาแล้วจะละทิ้งไปเฉยๆ นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้  ท่านก็ ย่อมจะคิดพิจารณาว่าสิ่งที่เราเห็นภายในจิตเมื่อสักครู่นี้คืออะไร แล้วภาษาสมมุติบัญญัติมันก็จะเกิดขึ้น

 

ใช้สมมติบัญญัติอธิบายปรมัตถบัญญัติ


           ในขณะที่เกิดความคิดขึ้นมาอย่างนี้ ความคิดอันนี้เป็นความคิดที่ตั้งใจคิดโดยเจตนา พระพุทธเจ้าตรัสรู้สภาวะพระสัมมา สัมพุทธเจ้า หรือความรู้จริงเห็นแจ้งนั้น  อันนั้นเป็นภาษาของ       พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ไม่มีใครสามารถที่จะรู้เห็นกับ  พระองค์ได้   แต่เมื่อพระองค์ออกมาสู่สภาวะปกติธรรมดาแล้ว ธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นั้น พระองค์จึงมาพิจารณาดูตามภาษาของ ชาวโลก ว่าสิ่งที่พระองค์รู้ในพระทัยนั้น อันนี้เขาเรียกว่าอะไร อัน       นั้นเขาเรียกว่าอะไร แล้วก็เอาภาษามนุษย์ทั้งหลายนั้นมาสมมติบัญญัติสิ่งที่รู้ที่เห็นนั้น


           ทำไมจึงเอาภาษาของมนุษย์ทั้งหลายมาบัญญัติสิ่งที่รู้ที่เห็น ก็เพราะพระองค์จะเทศน์ให้มนุษย์ฟัง ถ้าไม่เอาภาษามนุษย์มาบัญญัติเรียกชื่อธรรมะที่พระองค์รู้พระองค์เห็น เอาภาษาของพระพุทธเจ้าเท่านั้นมาพูดตามภาษาของพระองค์ๆ เดียว  ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าจะไปรู้ได้อย่างไร  อันนี้แหละคือข้อเท็จ จริงของธรรมะที่ปรากฏขึ้นภายในจิตของผู้ปฏิบัติ

 

หลักปฏิบัติเพื่อบรรลุพุทธภาวะ


           อีกนัยหนึ่ง ข้อสังเกตในเมื่อจิตของท่านไปสู่ภูมิอันละเอียด จิตสงบนิ่ง เดินอยู่ในสภาวะปกติ  แล้วมีสิ่งให้รู้ปรากฏขึ้นภายใน จิต ซึ่งตรงกับคำว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่ง     นั้นมีความดับไปเป็นธรรมดา  ทีนี้ลองสังเกตตัวกิเลสกันดูทีว่า ใน ขณะที่สภาวจิตเป็นอยู่อย่างนั้น แล้วมีสิ่งที่รู้ปรากฏอยู่อย่างนั้น หากว่าจิตสักแต่ว่ารู้ รู้แล้วก็ปล่อยวางไปโดยอัตโนมัติ ไม่มีความ ยึดถือในสิ่งใดๆ จิตก็อยู่ในสภาวะที่ประชุมพร้อมแห่งอริยมรรค       ตัวกิเลสก็ไม่เกิดขึ้น มีแต่ความเป็นปกติ

           แต่ในบางครั้งสติอาจจะเผลอไปนิดๆ เมื่ออะไรเกิดขึ้น ถ้า หากว่าจิตยินดี นั่น กามสุขัลลิกานุโยค ถ้าจิตยินร้ายนั่น อัตต-กิลมถานุโยค  ถ้าจะกำหนดโดยตัวกิเลส กามตัณหา ภวตัณหา    วิภวตัณหา  จิตยินดีในภพ นั่น กามตัณหา  จิตยึด นั่น ภวตัณหา จิตไม่ยินดีในภพ นั่นคือวิภวตัณหา


           แต่ถ้าไม่มีอาการดังกล่าวนั้น เพียงแต่กำหนดดูสิ่งหนึ่งสิ่ง ใดอยู่ตลอดเวลา ไม่มีปฏิกริยาเกิดขึ้นแม้แต่ประการใด มีแต่ปกติ ปรากฏเด่นชัดอยู่อย่างนั้น  อันนี้เป็นตัวประชุมพร้อมแห่งอริยมรรค ศีลก็เป็นอธิศีล จิตก็เป็นอธิจิต ปัญญาก็เป็นอธิปัญญา  ดังนั้น       จึงใช้ได้ในภาษิตที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้แล้วแปลออกมาเป็นคำ  ไทยว่า ศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา  และทีนี้ลงทางสุดท้าย  ปัญญาก็ย้อนออกมาอบรมจิต นี้คือหลักการปฏิบัติในคำสอนของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะก้าวนำไปสู่ภูมิธรรมอันจะพึง     เกิดขึ้นภายในจิต มีพุทธะปรากฏเด่นชัดอยู่  

 

           การทรงไว้ซึ่งความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน  เป็นกริยา ของพุทธะ  การทรงไว้ในสภาพปกติตลอดกาลเป็นกิริยาของพระธรรม  กิริยาที่เกิดความสังวรระวังโดยอัตโนมัติ นั่นเป็นกริยาของ พระสงฆ์  สุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดี  อุชุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติตรง  ญาย-ปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติเพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริง  สามีจิปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติ     ชอบยิ่ง  ถ้าภูมิธรรมของท่านผู้ใดสมควรที่จะบรรลุโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ได้ ก็กลายเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา ด้วยประการฉะนี้

           อาตมาได้แสดงพระธรรมเทศนาพอเป็นเครื่องสดับสติปัญญา ของคณะท่านเจ้าภาพที่มาร่วมกันทอดกฐิน เพื่อสนองพระเดช   พระคุณท่านเจ้าคุณพระราชมุนี  ซึ่งเป็นอาจารย์ที่เคารพบูชาของ พวกเราทั้งหลาย และได้พร้อมใจกันแสดงออกซึ่งคุณธรรมอัน เป็นหลักฐานเบื้องต้น ซึ่งเป็นคุณงามความดีและเป็นพื้นฐานให้ เกิดคุณงามความดีด้วยประการทั้งปวง ก็สมควรแก่กาลเวลา


           ในท้ายที่สุดแห่งการแสดงพระธรรมเทศนานี้ ขออ้างเอา คุณพระศรีรัตนตรัย คือคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  และบุญบารมีของบูรพาจารย์ทุกพระองค์ที่ผ่านมา จงดลบันดาลให้ เราท่านพุทธบริษัททั้งหลายจงประสบความสำเร็จที่ตนปรารถนา โดยทั่วกัน โดยนัยดังเทศนามาก็สมควรแก่เวลา  เอวังก็มีด้วย     ประการฉะนี้.


Last Updated on Monday, 07 February 2011 05:30
 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner