Home ธรรมะ ปฏิปทาพระกัมมัฏฐาน
ปฏิปทาพระกัมมัฏฐาน PDF Print E-mail
Saturday, 19 September 2009 08:00

ปฏิปทาพระกัมมัฏฐาน


โดย
หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย

หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย 

 

          เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพพระครูญาณวิจิตร(มานิต) ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดประชาอุทิศ และเป็นบูรพาจารย์ของบรรดาท่านทั้งหลาย ซึ่งท่านผู้นี้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ได้ประกอบคุณงามความดีเป็นที่ประจักษ์แก่ความทรงจำของบรรดาท่านทั้งหลาย ว่าโดยกำเนิดของท่าน ท่านเป็นชาวจังหวัดสกลนคร และเป็นเพื่อนสหธรรมิกร่วมสำนักครูบาอาจารย์เดียวกันกับท่านอาจารย์วันคือท่านเจ้าคุณอุดมสังวรญาณ  และเจ้าคุณชินวงศาจารย์ เจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน เราทั้งสามได้เป็นเพื่อนเล่นกันมาตั้งแต่เด็กแต่เล็กและเมื่อได้มาบรรพชาในพระพุทธศาสนา ได้มาร่วมสำนักอาจารย์เดียวกัน คือพำนักอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร เป็นลูกศิษย์ของท่านเจ้าคุณอริยคุณาธาร ซึ่งปัจจุบันคือมหาเส็ง เปรียญธรรม ๖ ประโยค ผู้ละเพศเป็นคฤหัสถ์และเสียชีวิตแล้วที่วัดป่าสาลวัน ได้เดินธุดงค์และได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมร่วมกันมา และได้ปฏิญาณตนว่าจะบวชอยู่ในพระพุทธศาสนาตลอดชีวิต ครั้นอยู่มาเมื่อมีอายุพรรษาพอสมควรก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะ เจ้าอาวาส และเป็นพระสมณศักดิ์ ท่านผู้มาประกอบกองการกุศล ณ ปัจจุบันนี้ก็ได้เป็นพระครูญาณวิจิตร และท่านอาจารย์วันได้เป็นพระราชาคณะ คือพระอุดมสังวรญาณ และผู้บรรยายได้เป็นพระชินวงศาจารย์ ผ่านตำแหน่งหน้าที่เจ้าคณะจังหวัดมาโดยลำดับ แต่ปัจจุบันนี้ ท่านอาจารย์วันก็ดี ท่านพระครูญาณวิจิตรก็ดี ก็ได้ถึงมรณภาพไปแล้ว ได้ทิ้งแต่ความเสียดายอาลัยไว้แก่สหธรรมิกและอุบาสกอุบาสิกา ตลอดจนศิษยานุศิษย์ที่มีความเคารพเลื่อมใสทั้งหลาย
 

 

          บัดนี้ เราท่านทั้งหลายได้มาประกอบการกุศลของท่านพระครูญาณวิจิตร โดยฐานะที่ท่านก็ได้เป็นบูรพาจารย์ของบรรดาเราทั้งหลายท่านหนึ่ง ได้ปลูกฝังคุณงามความดีให้เป็นที่ประจักษ์แก่จิตใจของบรรดาเราท่านทั้งหลาย เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ นอกจากจะได้เป็นผู้นำพัฒนาสร้างวัดสร้างวา สร้างบ้านสร้างเมือง ให้มีความเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับแล้ว ก็ยังได้เป็นผู้สั่งสอนศิษยานุศิษย์ ตลอดทั้งอุบาสกอุบาสิกา ให้ดำรงอยู่ในความปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามทางแห่งกัมมัฏฐานโดยทั่วไป ท่านมีจริยวัตรเคร่งครัดไปในทางธุดงคกัมมัฏฐาน โดยสืบเชื้อสายมาจากท่านอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่น และครูบาอาจารย์เป็นลำดับๆ  มา

 


          โดยฐานะที่ท่านเป็นลูกศิษย์พระกัมมัฏฐาน    เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายที่มุ่งอบรมบรรดาศิษยานุศิษย์ไปในทางสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผู้บรรยายจึงใคร่ที่จะนำปฏิปทาของพระกัมมัฏฐานมาแสดงโดยย่นย่อพอเป็นเครื่องพิจารณา


 

          กัมมัฏฐานในสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดิมทีเดียวนั้น มีกำเนิดเกิดขึ้นที่ท่านอาจารย์สีทา สยะเสโน อดีตเจ้าอาวาสวัดบูรพาราม จังหวัดอุบลราชธานี


 

          ครั้นอันดับต่อมาก็มีเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์(สิริจันโท จันทร์) ท่านพระคุณองค์นี้มีปฏิปทาดำเนินชีวิตในทางศาสนามาทั้งในด้านปริยัติและด้านปฏิบัติ    มีหน้าที่ปกครองบริหารหมู่คณะ   จัดทั้งการศึกษา การปกครอง และเป็นผู้นำในทางปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐานด้วย ครั้นอยู่มาภายหลัง ท่านผู้นี้ได้มีลูกศิษย์ผู้ใหญ่เกิดขึ้น ๒ ท่าน

 


          ท่านหนึ่ง คือ เจ้าคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์มหาเถระ ท่านผู้นี้มีปฏิปทาทางการศึกษา การปกครอง มีอำนาจปกครองคลุมไปทั่วภาคอีสาน เป็นพระเถระผู้ใหญ่ มีอำนาจราชศักดิ์สูงส่ง เป็นสมเด็จของภาคอีสานองค์แรก และเป็นสังฆนายกองค์แรกของคณะสงฆ์แห่งประเทศไทย นับว่าแผ่บารมีปกป้องคุ้มครองสังฆมณฑล ตลอดจนอุบาสก อุบาสิกาให้มีความร่มเย็นเป็นสุขทั่วภาคอีสานและภาคอื่นๆ    นี้เป็นลูกศิษย์ของท่านเจ้าคุณอุบาลี สิริจันโท ท่านหนึ่ง


 

         

ท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีโล

 ท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีโล

 

          และอีกท่านหนึ่งนั้นคือ ท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ท่านเป็นลูกศิษย์ของท่านเจ้าคุณอุบาลี เพราะว่าได้เคยศึกษาปฏิบัติในสำนักของท่านเจ้าคุณพระอุบาลี    แต่ท่านผู้นี้ได้มีปฏิปทาดำเนินเน้นหนักไปในทางฝ่ายสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานโดยเฉพาะ ได้นำลูกศิษย์ลูกหาหมู่คณะบำเพ็ญเพียรภาวนาน้อมไปในทางความสงบ และพิจารณาแสวงหาสัจธรรมความจริงเพื่อความพ้นทุกข์ในวัฏสงสารโดยตรง ดังนั้น ในฐานะที่เราทั้งหลายที่เป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีโล จึงขอนำปฏิปทาของอาจารย์เสาร์ที่ท่านสอนพระกัมมัฏฐานมาเล่าสู่บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลาย

 


          โดยปกตินั้นท่านอาจารย์เสาร์เป็นพระเถระที่ไม่ค่อยมีปฏิปทาในการเทศน์ เทศน์ก็ไม่เป็น แต่ว่าการนำในทางการปฏิบัติเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนานั้นไม่มีใครสู้ เท่าที่เคยได้อยู่ร่วมสำนักของท่านมา อายุท่านได้ ๘๐ ปี ท่านเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนานั้นพระเณรสู้ไม่ได้ ถ้าใครคิดจะเดินจงกรมแข่งท่านพระอาจารย์เสาร์ เป็นต้องแพ้ท่านทุกที นี่คือปฏิปทาอันเข้มแข็งของท่าน


          ท่านพระอาจารย์เสาร์สอนกัมมัฏฐานอย่างไร โดยปกติแล้วชาวอีสานเรียกท่านอาจารย์เสาร์ด้วยภาษาพื้นเมืองว่า “ญาทาน” ถ้าท่านผู้ใดอยากจะเรียนกัมมัฏฐานในสำนักอาจารย์เสาร์ ไปบอกความประสงค์กับท่านว่า

          “ญาทาน ข้าน้อยอยากเฮียนกัมมัฏฐาน เฮ็ดจังได๋”

          อาจารย์เสาร์จะบอกว่า “ภาวนาพุทโธตี๊”

          พุทโธแปลว่าจังได๋ ข้าน้อยอยากถาม ครั้นภาวนาพุทโธแล้วมันซิเป็นจังได๋ ซิมีอีหยังเกิดขึ้น”

          “ถามหาซิแตกอีหยัง”    นี่เป็นความจริง ท่านอาจารย์เสาร์สอนกัมมัฏฐาน ท่านบอกว่า “ให้ภาวนาให้มากๆ ทำให้มากๆ และถ้าใครขยันทำกันจริงจังแล้ว รับรองว่าภาวนาพุทโธนั้นต้องมีผลเกิดขึ้นอย่างแน่นอน” ท่านสอนอย่างนี้


          ฉะนั้น กาลที่ท่านล่วงลับไปแล้ว เนื่องจากท่านอาจารย์เสาร์ไม่มีเทศนาโวหาร จึงไม่ปรากฏว่ามีคำเทศนาของท่านทิ้งเอาไว้เป็นมรดกเป็นเรื่องเป็นราว ถ้าจะมีบ้างก็กระท่อนกระแท่น ไม่พอที่จะจับเป็นเรื่องเป็นราวได้ นอกจากลูกศิษย์ลูกหาจะจำมาเท่านั้น อันนี้คือปฏิปทาของท่านอาจารย์เสาร์


          แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ ประชาชนพลเมืองก็ดี พุทธบริษัทก็ดี มีความนิยมที่จะปฏิบัติกัมมัฏฐานและสอนกัมมัฏฐานกันจำนวนมาก สมัยเมื่อท่านอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่น ยังเดินธุดงค์สอนประชาชนให้หลับตาภาวนาอยู่นั้น เคยมีผู้กล่าวว่า สมัยนี้มรรคผลนิพพานมันหมดไปแล้ว ไม่ทราบว่าจะภาวนากันไปทำไม แล้วพระกัมมัฏฐานพระป่าทั้งหลายมักถูกประณามว่าพากันนั่งหลับหูหลับตา ไม่ลืมตาดูโลกดูอะไรกับเขา มักจะถูกว่ากล่าวอย่างนั้น แต่มาสมัยปัจจุบันนี้นั้น จะเป็นเพราะเหตุใดไม่ขอนำมากล่าว แต่รู้สึกว่าทั้งคณะสงฆ์และฝ่ายบ้านเมืองก็พากันสอนและพากันปฏิบัติกัมมัฏฐานเป็นจำนวนมากและนักปฏิบัติในสมัยปัจจุบันนี้ รู้สึกจะสำเร็จมรรคผลนิพพานเร็วกว่าการปฏิบัติกัมมัฏฐานในสมัยท่านอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่นเสียอีก เพราะอาศัยเหตุที่สอนกัมมัฏฐานกันมากขึ้นๆ มติขัดแย้งระหว่างครูบาอาจารย์ผู้สอนกัมมัฏฐาน ผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐานนั้นจึงเกิดขึ้นเป็นเรื่องของธรรมดา บางท่านก็กล่าวว่า การภาวนาพุทโธ อย่างดีก็ถึงแค่สมถะไม่ถึงขั้นวิปัสสนากัมมัฏฐาน ต้องปฏิบัติอย่างนี้ๆ จึงจะถึงวิปัสสนากัมมัฏฐาน สำเร็จมรรคผลนิพพานได้

Grand Teton and Wild Flowers Wyoming
 

          ท่านผู้ที่ว่าภาวนาพุทโธถึงแค่สมถกัมมัฏฐาน ไม่ถึงวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น รู้สึกว่าผู้ภาวนาพุทโธยังได้รับเกียรติ เมื่อภาวนาพุทโธแล้วจิตถึงสมถกัมมัฏฐาน คือจิตไปถึงอัปปนาสมาธินั่นเอง ทำไมจึงว่าอย่างนั้น อนุสติ ๑๐ ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๘ ใครๆภาวนาแล้วจิตจะต้องลงไปอยู่แค่อุปจารสมาธิ ไม่ถึงอัปปนาสมาธิ ทำไมจึงว่าอย่างนั้น ผู้ฟังอาจจะเกิดความสงสัย ท่านลองพิจารณาดู ให้ท่านพิจารณากันจริงๆ ในขั้นแรกท่านนึกบริกรรมว่าพุทโธๆๆ เมื่อจิตสงบมีอาการเคลิ้มๆ ลงไปแล้วก็เกิดสว่างขึ้น แล้วจิตก็เกิดมีปีติ มีสุข จิตที่นึกว่าพุทโธๆๆหายไปใช่หรือเปล่า ขอท่านสังเกตให้ดี เมื่อภาวนาพุทโธ จิตสงบลงไปแล้วจิตท่านเกิดปีติ คำภาวนาพุทโธนั้นจะหายไป จะไม่นึกพุทโธอีกต่อไป การนึกพุทโธนี้จึงไม่ถึงขั้นสมถะหรืออัปปนาสมาธิ เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำไมจิตจึงปล่อยวางคำว่าพุทโธ ก็เพราะในขั้นต้นนั้นจิตยังไม่ถึงพุทโธ ขณะจิตยังไม่สงบ และจิตก็ยังไม่เห็นพุทโธ ถ้าเปรียบเทียบเหมือนกับว่าเราอยากจะพบใครสักคนหนึ่ง แต่เรามองไม่เห็นเขา เมื่อเราอยากจะพบเขาก็ต้องตะโกนเรียกชื่อเขา เมื่อผู้นั้นมาหาเราและมาพบเราแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องเรียกชื่อบุคคลนั้นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น การภาวนาพุทโธในขณะจิตยังไม่ถึงพุทโธ เราก็บริกรรมภาวนาพุทโธๆๆ เมื่อจิตสงบ สว่างลงไป เกิดปีติ มีความสุขนั้น จิตถึงพุทโธแล้ว จิตไม่เรียกหาพระพุทธเจ้าคือพุทโธอีก ถ้าหากเรายังเรียกพุทโธคือพระพุทธเจ้า ท่านก็จะหนีเราไปอีก เมื่อพูดมาถึงตอนนี้ ท่านผู้ภาวนาควรจะเข้าใจแล้วว่า เมื่อภาวนาพุทโธๆ ๆ เมื่อจิตสงบ สว่างลงไปแล้ว จิตมีปีติมีความสุข คำว่าพุทโธหายไป ความสงบของจิตนั้นมีสภาวะผู้รู้ปรากฏขึ้นในจิต ผู้รู้ที่ปรากฏขึ้นในจิตนั้น ย่อมเกิดความสว่างไสว ความสว่างไสวนั้นเป็นความตื่นของจิตความเบิกบานของจิต เรียกว่าเป็นพุทโธ ผู้ตื่น และพุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ย่อมบังเกิดขึ้นในจิตของผู้ภาวนาพุทโธๆ เริ่มต้นตั้งแต่จิตสงบลงไป สว่าง แล้วก็เกิดปีติและสุข ในเมื่อจิตมีปีติและสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง จิตก็ย่อมไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย มุ่งหน้าต่อความสงบเรื่อยไป ในตอนนี้ผู้ปฏิบัติกำหนดรู้อยู่ที่จิตสว่างไสวอยู่เฉยๆเท่านั้น ไม่ต้องไปนึกคิดอะไรขึ้นมาอีก ถ้าท่านเผลอนึกอะไรขึ้นมา จิตของท่านจะถอนออกจากสมาธิ   แล้วความสงบสว่างไสวก็จะหายไป  นี่คือคติที่นักปฏิบัติทั้งหลายควรจะทราบไว้พิจารณาเป็นประสบการณ์ของนักภาวนาจะต้องผ่าน


 

          ในเมื่อจิตของท่านไปสงบสว่างอยู่เฉยๆ ไม่เกิดภูมิความรู้อะไรขึ้นมา ถ้าหากในตอนนี้ท่านเผลอไป ปล่อยให้จิตส่งกระแสออกไปข้างนอก จิตมองไปไกลๆ จะเห็นภาพนิมิตต่างๆ เกิดขึ้น   ภาพนิมิตในตอนนี้คล้ายกับเห็นด้วยตาและรู้ด้วยใจ บางทีจะไปเห็นภาพเปรต ภาพผี ภาพคน นักภาวนาที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ไปสำคัญว่าภูติผีเหล่านั้นมาขอส่วนบุญ    แล้วก็ไปตั้งใจแผ่ส่วนบุญให้เขาเหล่านั้น ในเมื่อเป็นเช่นนั้นสภาพจิตก็เปลี่ยนสมาธิก็ถอน ภาพนิมิตทั้งหลายเหล่านั้นก็เลยหายไป เราก็เลยมัวแต่นั่งแผ่ส่วนกุศลให้เขาอยู่


 

          ถ้าหากนักภาวนาที่มีสติสัมปชัญญะรอบคอบ   เมื่อจิตถึงสภาวะตอนนี้แล้วจิตอยู่ว่างเฉยๆ แล้ว   ถ้าว่าจะดำเนินจิตให้ละเอียด สงบ หรือละเอียดยิ่งขึ้นไป ควรจะมองหาลมหายใจ   เมื่อจิตพบลมหายใจแล้ว    กำหนดรู้ลมหายใจเฉยอยู่   อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ทั้งนั้น    แม้ว่าลมหายใจเข้าออกปรากฏในนิมิต   ปรากฏในความรู้สึกเป็นท่อยาวก็ตาม ให้กำหนดรู้ลมหายใจเฉยอยู่ แม้ว่าลมหายใจจะเล็กละเอียดลงไป ก็อย่าไปตกอกตกใจกำหนดตามรู้ให้ดี    และในที่สุดถ้าเราไม่ตื่นในความเปลี่ยนแปลง    ในอาการที่เกิดขึ้นภายในจิต  จิตจะมีสติสัมปชัญญะรู้ตลอดเวลา  จิตจะดำเนินไปสู่ความสงบละเอียดยิ่งขึ้น   ในเมื่อสงบละเอียดยิ่งขึ้นแล้ว  ลมหายใจก็หายขาดไป    ร่างกายที่ปรากฏว่ามีอยู่ก็หายขาดไปด้วย   ตอนนี้สภาวะจิตยังเหลือแต่ตัวผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่ มีความสงบนิ่งเด่นอยู่อย่างนั้น อันนี้คือจิตก้าวเข้าสู่อัปปนาสมาธิ   จิตในตอนนี้ยังใช้การไม่ได้ เป็นเพียงฐานที่พักจิต เป็นเหตุให้ผู้ภาวนานั้นทราบความเป็นจริงของจิตตัวเอง คือรู้ว่าเมื่อจิตไม่มีความนึกคิด มีแต่ความว่าง เฉยอยู่ มีสภาพอย่างไร เมื่อจิตรับรู้อารมณ์แล้ว จิตมีสภาพอย่างไร ทราบขั้นตอนของความเป็นของจิตได้ทันที จิตในตอนนี้ท่านเรียกปฐมจิต ปฐมวิญญาณ มโนธาตุ ถ้าจิตไม่น้อมออกไปรับรู้อารมณ์ จิตจะมีลักษณะว่าง สว่าง อยู่เฉย ท่านเรียกจิตเช่นนี้ว่าจิตดั้งเดิมประภัสสร แต่ไม่ใช่จิตที่บริสุทธิ์สะอาดโดยสิ้นเชิงเป็นแต่เพียงจิตปราศจากเมฆหมอกบังเพียงชั่วขณะหนึ่ง ทำให้ผู้ปฏิบัติมองเห็นสภาพความเป็นจริงของจิตในขณะนั้น


          เมื่อเรารู้ว่าจิตดั้งเดิมของเรามีสภาพอย่างไร และเรารักษาจิตให้อยู่ในสภาพอย่างนี้ตลอดไป ความสุข ความทุกข์จะเกิดขึ้นอย่างไร ผู้ปฏิบัติจะรู้ทันที อันนี้คือวิถีทางของผู้ปฏิบัติพุทโธ และเป็นประสบการณ์ที่ผู้ปฏิบัติทุกคนจะต้องพบ


          การบริกรรมภาวนานั้น อย่าว่าแต่ศาสนาพุทธหรือชาวพุทธจะภาวนาเลย แม้แต่ศาสนาคริสต์หรือชาวคริสต์เขาก็บริกรรมภาวนา นึกถึงชื่อพระผู้เป็นเจ้าของเขาเพียงอย่างเดียว คำเดียวเท่านั้น เมื่อจิตสงบลงไปก็ต้องเป็นวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาเหมือนกัน ในศาสนาอิสลามเขาก็อาจจะบริกรรมภาวนา เมื่อจิตสงบลงไป สภาวะจิตจะเข้าไปสู่ความเป็นสมาธิ เป็นอย่างเดียวกันหมด อันนี้คือความจริง สมาธินี้ เมื่อใครทำ ผลที่เกิดขึ้นมันเป็นอย่างเดียวกันหมด อาศัยหลัก คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ด้วยกันทั้งนั้น และผลที่เกิดขึ้นจะตรงกันหมด ถ้านักปฏิบัติทั้งหลายพากันเอาผลที่เกิดขึ้นภายในจิตในใจจริงๆ มาเปรียบเทียบกันโดยตัดทิฐิมานะเรื่องตำรับตำราออกไปให้หมด มติความเห็นจะลงรอยเดียวกันหมด นี่คือความเป็นจริงของนักภาวนา

 


          แต่จุดมุ่งหมายของแต่ละศาสนาย่อมไม่เหมือนกัน ศาสนาอิสลามเมื่อภาวนาจิตสงบสว่าง จิตอยู่ในการควบคุมได้พอสมควรแล้ว เขาจะส่งจิตของเขาติดต่อกับพระผู้เป็นเจ้าบนสรวงสวรรค์ เขาอธิษฐานขอให้พระผู้เป็นเจ้าคุ้มครองหรือบันดาลให้เขามีความสุขสมความปรารถนา ชาวศาสนาคริสต์ส่งจิตไปติดต่อกับพระผู้เป็นเจ้าบนสรวงสวรรค์ อธิษฐานจิตให้พระผู้เป็นเจ้าช่วย แต่ศาสนาพราหมณ์นี่พิศดารกว่าเขามาก นอกจากจะทำจิตให้เป็นสมาธิมุ่งตรงต่อสมาบัติ ๘ แล้ว ยังมีปลีกย่อยที่จะให้ประโยชน์ได้มาก เช่นจะเอาไปใช้ประโยชน์ในการทำเครื่องรางของขลัง การเป็นหมอดู หมอรักษาคน ทำนายทายทัก และหมอปลุกเสกอะไรต่างๆ และเนื่องจาก ศาสนาพุทธเกิดอยู่ท่ามกลางของศาสนาพราหมณ์ พุทธบริษัทเราจึงไปหยิบยืมเอาลัทธิศาสนาพราหมณ์มาเป็นเครื่องมือ ใช้เป็นเครื่องมือทำไม  ก็เป็นเครื่องมือหาอยู่หากิน เพราะการที่จะมาดำเนินตามหลักของศาสนาพุทธ หลักธรรมะเป็นของละเอียดสุขุมมาก ยากที่เราจะค้นพบความจริง เราก็ไปหยิบยืมเอาคาถาบริกรรมภาวนาเล็กๆน้อยๆเช่น คาถาพระเจ้าเปิดโลก คาถาปลุกพระ คาถาส่องอะไรต่ออะไรให้รู้ให้เห็น หรือคาถาภาวนาแล้วเกิดพรายกระซิบบอกเหตุบอกเรื่องอะไรให้รู้ อย่างนี้เป็นเรื่องของศาสนาพราหมณ์ทั้งนั้น

 


          แต่สำหรับผู้ภาวนาแนวทางของศาสนาพุทธนั้น     ผลพลอยได้บังเกิดขึ้นจากการทำสมาธินั้นย่อมมีตามแบบของศาสนาพราหมณ์นั่นแหละ ใครภาวนาเป็นอย่างดีแล้วสะกดให้เครื่องยนต์มันดับก็ได้ อย่างเช่นอาจารย์ฝั้นท่านเคยเล่าให้ฟัง เวลาท่านนั่งไปในรถยนต์ ท่านก็กำหนดอาการ ๓๒ พอกำหนดไปถึงหัวใจ เกิดจิตสงบ สว่างขึ้นมาทันที  แล้วจิตวิ่งไปเกาะอยู่ที่หัวเทียนของรถยนต์ เครื่องยนต์ก็ดับ อันนี้คือผลพลอยได้จากการภาวนา หรือบางท่านเมื่อภาวนาจิตสงบดีแล้ว ไปเที่ยวชี้ต้นมะพร้าว ชี้กิ่งไม้ให้หักลงมา ก็สามารถทำได้ เป็นสมถะนี้สามารถจะทำอะไรแปลกๆได้หลายอย่าง  จะเป็นอาจารย์ให้หวยเบอร์ก็ได้ จะปลุกเสกเครื่องรางของขลังเสกเป่าอะไรก็ยิ่งขลังกันไปใหญ่ เพราะเป็นอำนาจจิตซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการภาวนา

 


          ในศาสนาพุทธโดยตรงนั้นทำอย่างไร เมื่อนักปฏิบัติทั้งหลายได้ฝึกฝนอบรมจิตให้เป็นสมาธิ จิตสงบพอสมควรแล้ว ถ้าหากภาวนาพุทโธ ๆๆ   จิตนิ่งสงบอยู่เพียงแค่สมถะหรืออัปปนาสมาธิเท่านั้น    ไม่มีทางก้าวหน้าไปทางไหนอีกเลย ทำเมื่อใดจิตจะมีวิตก วิจาร ปีติ สุข สงบนิ่งอยู่อย่างนั้น ภูมิความรู้ไม่เกิด เรียกว่าจิตติดสุขแค่สมถะ

 

Helani Gardens Maui
 

          ต่อไปเราจะทำอย่างไร   อาจารย์เสาร์ท่านสอนให้แก้จิตสมถะได้อย่างนี้   เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิดีแล้ว คือขณะทำจิตให้เป็นสมาธิอย่างที่เคยกระทำมา เมื่อจิตอยู่ในอัปปนาสมาธิ เราจะน้อม จะนึก จะคิด จะพิจารณาอะไรไม่ได้ทั้งนั้น เพราะจิตเป็นหนึ่งแล้ว มันจะเป็นหนึ่งอย่างแท้จริง ไม่มีการติดต่อสัมพันธ์กับอายตนะภายนอก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เกี่ยว กายหายไปหมดแล้ว มีแต่จิตดวงเดียว   ทำอะไรไม่ได้   มีแต่สงบนิ่งอยู่อย่างนั้น


          นักปฏิบัติเมื่อพบอย่างนั้นจะทำอย่างไร   ผู้ปฏิบัติจะต้องคอยสังเกต   เมื่อจิตถอนออกมาจากอัปปนาสมาธิ มาสู่ขั้นระหว่างอุปจารสมาธิ ความรู้สึกนึกคิดจะเกิดขึ้นมาทันที ถ้าไม่คิด ลมหายใจจะปรากฏขึ้นมาอีก ในเมื่อเกิดอะไรขึ้นมา ความคิดอะไรที่แปลก นักปฏิบัติก็ควรจะกำหนดรู้ความคิดนั้น กำหนดรู้เฉยๆ เมื่อความคิดเกิดขึ้นมาแล้ว ก็รู้ รู้แล้วก็ปล่อยวางไป ไม่ต้องไปนั่งพิจารณาหรือวิพากษ์วิจารณ์อันใด อะไรเกิดขึ้นมารู้ แต่อย่าไปเพิ่มเติม อย่าไปวิจารณ์ รู้แล้วปล่อยวางไป รู้อยู่เฉยๆ  ตั้งสติสัมปชัญญะกำหนดรู้ตามไปเรื่อยๆ    ในเมื่อกำหนดรู้ตามไปเรื่อยๆแล้ว จิตจะเริ่มสงบอีกทีหนึ่ง เมื่อจิตสงบขึ้นมาอีกครั้งนี้ ภูมิความรู้จะเกิดขึ้นมาเองโดยไม่ได้ตั้งใจ เมื่อภูมิความรู้เกิดขึ้นมาตอนนี้ ภูมิความรู้กับจิตจะมีลักษณะความสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความรู้ในตอนนี้มีสมมติบัญญัติ เมื่อจิตรู้อะไร ความรู้อันนั้นก็เรียกชื่อได้ถูกต้องตามภาษานิยม เพราะจิตในขณะนี้ยังมีสมมติบัญญัติอยู่


 

          ถ้าสมมติว่าจิตถอนออกจากอัปปนาสมาธิแล้ว มันถอนออกมาอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถยับยั้งได้ ตอนนี้ ท่านอาจารย์เสาร์ท่านสอนว่า   ให้น้อมไปพิจารณากายคตาสติ กำหนดพิจารณาไปตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก จนครบอาการ ๓๒ โดยน้อมจิตให้รับรู้ไปในแง่ที่เป็นของปฏิกูล ไม่สวยไม่งาม น่าเกลียด โสโครก จิตมันจะรู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม เห็นก็ตาม ไม่เห็นก็ตาม ให้นึกพิจารณาอยู่อย่างนั้น  พิจารณาบ่อยๆ  ค้นคว้าบ่อยๆ  โดยตั้งใจ โดยคิดว่าผมนี้มันไม่สะอาด เป็นของน่าเกลียด โสโครก ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกก็เหมือนกัน มันเป็นของปฏิกูล โสโครก น่าเบื่อน่าหน่ายเมื่อมันตายไปแล้วมันก็เน่าเปื่อย ผุพังไปตามธรรมชาติของมัน อันนี้ท่านให้น้อมนึกพิจารณาเอา ในเมื่อท่านพิจารณาไปพอสมควรแล้วให้หยุด แล้วก็มากำหนดพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง จนจิตเกิดความสงบขึ้นมา เมื่อจิตมีความสงบแล้ว จิตจะปฏิวัติตามไปสู่ภูมิความรู้ที่ได้คิดค้นมานั้น บางทีจะรู้ซึ้งเห็นจริงลงไปโดยมีภาพนิมิตปรากฏแสดงความปฏิกูล น่าเกลียด โสโครก เน่าเปื่อย ผุพังลง อันนี้สุดแท้แต่อุปนิสัยของท่านผู้ใด ถ้าทำเพียงครั้งหนึ่ง ๒ ครั้งไม่เกิดผล ก็ต้องเพียรพยายามทำบ่อยๆ เช่น เคยได้ยินคำเทศน์ของท่านอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านเทศน์ว่าเราต้องการจะโค่นต้นไม้ เราก็ใช้ขวานฟันมันลงไป ฟันมันลงไปที่เก่านั่นแหละ แล้วผลสุดท้ายต้นไม้มันจะหักโค่นลงมาเอง เพราะฉะนั้น การพิจารณากายคตาสติ แม้ว่าจิตเราจะไม่สงบ ไม่รู้ไม่เห็นอะไรก็ตาม พิจารณาค้นคว้ามันอยู่อย่างนั้น พิจารณาบ่อยๆ พิจารณาเนืองๆ ความรู้ความเข้าใจมันจะเกิดขึ้นมาเอง เมื่อจิตยอมรับให้เมื่อใด เมื่อนั้นจิตจะเกิดความสงบขึ้น


 

         เมื่อพิจารณาอสุภกัมมัฏฐานจนชำนิชำนาญ จนเห็นอสุภะดีแล้ว อาจารย์เสาร์ท่านสอนต่อไปอีก ท่านสอนให้พิจารณาธาตุกัมมัฏฐาน  โดยให้พิจารณาแยกร่างกายออกเป็น ๔ ส่วน คือ แยกออกเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ด้วยการน้อมนึกเอา โดยเจตนาและตั้งใจ   จนกระทั่งจิตยอมรับความเป็นจริงว่าร่างกายมีธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อจิตสงบ เกิดรู้ด้วย เห็นด้วยนิมิต เมื่อสภาพจิตยอมรับรู้ความเป็นจริงว่าร่างกายประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ หาสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขาไม่มี ชีวิตไม่มี มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น ในเมื่อสภาพจิตยอมรับความเป็นจริงลงไปอย่างนี้ จิตก็รู้ว่าในร่างกายของเรานี้ไม่มีอะไร มีแต่อนัตตาทั้งสิ้น    สูญจากความเป็นคน    สูญจากความเป็นสัตว์    สูญจากความเป็นชีวิต เมื่อเป็นเช่นนั้น   ภูมิจิตของผู้ปฏิบัติก็จะก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาเองโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะพวกเราพยายามปฏิบัติไปตามขั้นตอน   ตามแนวของท่านอาจารย์ใหญ่

 


          ให้บริกรรมภาวนา   ทำจิตให้สงบพอสมควร    ถ้าสามารถทำจิตให้สงบให้บรรลุฌานได้ยิ่งดี เมื่อทำจิตให้เป็นสมาธิได้พอสมควรแล้ว ท่านสอนให้พิจารณากายคตาสติไปในแง่อสุภกัมมัฏฐาน เมื่อพิจารณาอสุภกัมมัฏฐานได้และมีความรู้ความเห็นได้ดีแล้วจึงมาพิจารณาธาตุกัมมัฏฐาน โดยพิจารณาว่าร่างกายคน สัตว์ เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟเท่านั้น ในเมื่อมองเห็นอนัตตา ความเป็นสัตว์ เป็นคน เป็นชีวิตไม่มี ภายหลังจากนั้นจิตมันก็จะเกิดความสงบละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก จนกระทั่งธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มองเห็นอยู่นั้นก็สลายตัว    ร่างกายสาบสูญไปหมด   เหลือสภาพจิตที่ว่างอยู่เท่านั้น

Japanese Garden Portland Oregon 


          เมื่อสภาพจิตเกิดความว่างขึ้น หากกำลังของอริยมรรค คือ ศีล สมาธิ ปัญญา พร้อมรวมลงเป็นหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “เอกายโน มัคโค”   อริยมรรค ๘ รวมลงเป็นหนึ่ง ศีลสมาธิรวมลงเป็นหนึ่ง คือ ตัวปกติธาตุตั้งนิ่งเด่นอยู่ภายในจิตของตนตลอดเวลา หลังจากนั้นปัญญาความรู้ก็ย่อมจะเกิดขึ้น ความรู้ที่เกิดขึ้นกับจิตของตนในขั้นละเอียดนั้น ท่านจะรู้สึกว่าไม่มีร่าง ไม่มีตัว ไม่มีตน มีแต่ตัวพุทธะผู้รู้เด่นอยู่ตลอดเวลา ความรู้ในขั้นนี้จะปรากฏคล้ายๆ กับมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา สภาวะจิตของผู้รู้ก็จะจดจ้องดูความรู้ที่เกิดขึ้นอย่างนั้นตลอดไป และความรู้ก็เพียงแต่รู้ว่ามีสิ่งเกิดดับๆ อยู่ภายในจิตเท่านั้น อันนี้เป็นภูมิความรู้ชั้นสูงของนักปฏิบัติ เรียกว่าเจริญวิปัสสนาอย่างละเอียด


 

          ภูมิความรู้ของนักวิปัสสนาอย่างละเอียดที่เกิดขึ้นย่อมไม่มีสมมติบัญญัติใดๆ มีแต่สิ่งที่มีอยู่ในจิต ตอนนี้ท่านอาจารย์มั่นเทศน์ไว้ในมุตโตทัยว่าเป็น ฐีติภูตัง ฐีติคือความตั้งเด่นอยู่ของจิต ซึ่งประชุมพร้อมด้วยอริยมรรค ๘ ศีล สมาธิ ปัญญา ประชุมพร้อมกันลงที่นี่แล้วสำเร็จความเป็นหนึ่ง เรียกว่า เอกายโน มัคโค เมื่อเอกายโนนี้ประชุมพร้อมแล้ว เป็นหนทางดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลายเป็นไปเพื่อความตั้งอยู่ไม่ใช่ของความทุกข์ สุข และโทมนัส คัมภีร์ท่านกล่าวไว้อย่างนี้


          ในขณะเมื่อจิตของเราจดจ้องดูสิ่งที่เกิดขึ้นดับไปๆ   อยู่ตลอดเวลานั้น   นักศึกษาปริยัติทั้งหลายลองพิจารณาเทียบดูซิว่า พอจะไปเปรียบเทียบกับหลักธัมมจักกัปปวัตตนสูตรในข้อที่ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาก็มีความดับไปเป็นธรรมดา เป็นความรู้ความเห็นที่เกิดขึ้นในปัญญาของท่านโกณฑัญญะ และพระพุทธเจ้าก็รับรองความรู้อันนี้ และได้รับรองว่าพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นพระโสดาบันในพระพุทธศาสนา เป็นพระสาวกองค์แรก เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันได้ในความว่า ธรรมะอันละเอียดซึ่งเป็นสัจธรรมปรากฏขึ้นในจิตของผู้ปฏิบัตินั้น มีแต่เพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา หากสมมติบัญญัติที่จะเรียกชื่อว่าสิ่งนั้นชื่อนั้นไม่มี พระพุทธเจ้าก็เรียกไม่ถูก ท่านจึงเรียกว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่เรียกว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็เพราะหาชื่อเรียกไม่มี อันใดที่เราเรียกชื่อได้อยู่ อันนั้นไม่ใช่สัจธรรม เพราะมันยังไปเหมือนสมมติบัญญัติ สัจธรรมที่ปรากฏขึ้นกับจิตของผู้ปฏิบัตินั้น มีแต่สิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ ดังที่กล่าวมาแล้ว

 


          ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่ง ในเมื่อผู้ปฏิบัติทำจิตมาได้ถึงขนาดนี้ เมื่อมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งปรากฏอยู่บ่อยๆ ในขณะใดจิตถูกอวิชชาโมหะเข้าครอบงำ เมื่อมันรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาแล้วเกิดความพอใจหรือเกิดความยินดี กลายเป็นกามสุขัลลิกานุโยค ถ้าเกิดความเบื่อก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค ถ้ายินดีเป็นกามตัณหา ถ้ายึดถือเป็นภวตัณหา ถ้าปฏิเสธสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นวิภวตัณหา เมื่อจิตอยู่ในสภาวะปกติ มรรคเดินอยู่ตลอดเวลา จะเป็นอะไรก็หยุด เป็นนิโรธะ คือ ความดับกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ไม่มีไม่ปรากฏขึ้นในจิตของผู้ปฏิบัติ มันจะเป็นอะไร นอกจากนิโรธะคือความดับ ในเมื่อนิโรธะคือความดับ จิตก็เป็นปกติ จิตก็จ้องหาทางดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายในจิตของนักปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดตั้งใจจะเป็นนักปฏิบัติ ต้องการให้จิตมีความสงบและรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมะที่ควรรู้ควรเห็นตามความเป็นจริง อย่าได้ไปทำความลังเลสงสัยใดๆ ขอให้คติเตือนใจบรรดาท่านทั้งหลายไว้ว่า จะภาวนาอะไร อย่างใดแบบใดก็ตาม เมื่อจิตสงบแล้ว จิตเป็นสมาธิ มีสภาพเหมือนกันหมด ไม่มีแตกต่างกัน ถ้านักปฏิบัติเอาความเป็นจริงมาเทียบ เราจะไม่มีข้อขัดแย้งกันเลย ที่เราขัดแย้งกันอยู่ในปัจจุบันนี้ก็เพราะเหตุว่า


          ๑. ต่างคนต่างไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เป็น
          ๒. ฝ่ายหนึ่งรู้ ฝ่ายหนึ่งเห็น ฝ่ายหนึ่งเป็น อีกฝ่ายหนึ่งไม่รู้ ไม่เห็น และไม่เป็น
          ๓. เมื่อต่างฝ่ายต่างรู้ ต่างเห็น ต่างเป็น ไม่มีการขัดแย้ง เช่น พระอรหันต์ไม่เคยทะเลาะกัน



 

Last Updated on Saturday, 19 September 2009 09:42
 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner