Home หลวงพ่อพุธ มอบธรรม นำพร แสงธรรม…ส่องใจ
แสงธรรม…ส่องใจ PDF Print E-mail
Wednesday, 10 November 2010 06:25

แสงธรรม…ส่องใจ
พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

 

          ถ้าใจรู้อยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าอยู่ที่นั่น ถ้าใจรู้อยู่เป็นปกติ ไม่หวั่นไหว พระธรรมก็อยู่ที่นั่น ถ้าใจมีสติสัมปชัญญะ สังวรระวัง หรือควบคุมความรู้สึกให้รู้อยู่ที่รู้ คือที่ใจนั้นเอง พระสงฆ์ก็อยู่ที่นั่น
          พระพุทธเจ้า ก็คือ จิตรู้ของเรา
          พระธรรม ก็คือ จิตที่มีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี
          พระสงฆ์ ก็คือ เจตนาตั้งใจจะละความชั่วประพฤติดีอยู่ตลอดเวลา
          จิตของเราเป็น พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยกันแล้วทุกคน แต่ว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ของเรายังมีพลังน้อย เพิ่งเริ่มเป็นแสงริบหรี่ เล็กกว่าแสงหิ่งห้อยนิดหนึ่ง ดังนั้น เราจึงมาตั้งใจปฏิบัติภาวนา…เพื่อให้แสงพุทธธรรมอันนั้นสว่างไสวขึ้นในจิต
          การทำสมาธิมิได้หมายความว่า เราจะมากำหนดจิตบริกรรมภาวนา หรือมาพิจารณาเฉพาะในขณะนั่งหลับตาเท่านั้น แม้เวลาอื่นนอกจากการปฏิบัติ คือนอกจากการเดินจงกรมและจากการนั่งสมาธิเราจะทำอะไร จะพูด จะคิด จะดื่ม จะฉัน จะรับประทานอะไรก็ตามให้มีสติสัมปชัญญะคอยกำกับ และเอาตัวรู้สะกดตามไปด้วย คือให้มีผู้รู้ ในเมื่อเรามีสติสัมปชัญญะกำกับรับรู้กิริยาความเคลื่อนไหวของเราอยู่ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด เราก็มีสติสังวรอยู่
          การมีสติสังวรอยู่ สํวโร คือการสำรวม
          การสำรวม ก็คือ ศีล
          ความตั้งมั่นจดจ้องต่อการสังวรระวัง ก็คือ สมาธิ
          ความมีสติสัมปชัญญะ รู้รอบคอบอยู่ทุกอิริยาบถนั้น คือ ปัญญา

 

ศีล … นำทาง

          ท่านใดที่ต้องการปฏิบัติธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาให้เกิดผลประโยชน์ในทางมรรคผลนิพพานอย่างแท้จริง ขอให้ยึดมั่นในศีล ๕ ประการ เมื่อท่านมีศีล ๕ ข้อนี้โดยบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว ความเป็นมนุษย์ของท่านสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซนต์เต็ม เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านจะปลูกฝังคุณความดีอันใดลงไป คุณงามความดีอันนั้นก็จะฝังแน่นในกาย วาจา และใจของท่าน แล้วบำเพ็ญความดีในเบื้องสูงขึ้นไปคือสามารถที่จะปรับจิตใจให้ดำเนินไปสู่ทางมรรคผลนิพพานก็ย่อมจะทำได้ เพราะผู้ที่จะคู่ควรแก่ทางมรรคผลนิพพานอย่างแท้จริงนั้นอย่างต่ำก็คือมนุษย์ สูงขึ้นไปก็เทวดา อินทร์ พรหม ต่ำกว่าภูมิมนุษย์ไม่มีวันที่จะรองรับมรรคผลนิพพานได้
          เมื่อใครก็ตามได้มาปฏิญาณว่าจะรักษาศีล ๕ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นแผนของการละบาป สิ่งที่เป็นบาป เป็นผลจากการละเมิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง ถ้าใครละเมิดบาปทันที แล้วก็บาปโดยกฎของธรรมชาติด้วย บาปไม่มีใครเป็นผู้สร้างขึ้น บาปนี่มีตัวตนหรือเปล่า บาปไม่มีตัวตน แต่ว่ามันแสดงทุกข์ที่ใจของเรา
          การปฏิบัติธรรมที่เราจะเอาดีกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศีลสิกขาบทวินัยอย่างต่ำ แม้แต่ศีล ๕ ต้องให้บริสุทธิ์สะอาด ถ้าหากศีลยังบกพร่อง เราก็พยายามปฏิบัติกันไปเรื่อยจนกว่าจะสมบูรณ์ ในตอนแรก ๆ นี่เราใส่เสื้อขาดไปก่อน เรามีเสื้อขาดใส่ มันก็ยังดีกว่าคนที่ไม่มีเสื้อจะใส่ ดังนั้น ศีลนี่ เราอาจจะขาดตกบกพร่องด่างพร้อยบ้าง ทะลุบ้าง มันก็ยังดี ดีกว่าไม่ตั้งใจรักษาศีลเลย เมื่อเรามารักษาศีลแล้วก็บำเพ็ญสมาธิภาวนาเรื่อยไป สร้างพลังจิตให้มีความเข้มแข็งมั่นคง มั่นคงต่อการที่จะตั้งใจละอะไรและเจริญอะไร

 

สมาธิ … สร้างใจ

          สมาธิที่จัดว่าเป็นสัมมาสมาธินั้น ต้องมุ่งตรงต่อ…

          สุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดี 
          อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติตรง
          ญายปฏิปันโน ปฏิบัติเพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริง
          สามีจิปฏิปันโน ปฏิบัติชอบยิ่ง

          ตามแนวทางแห่งสังฆคุณ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นแนวทางแห่งสัมมาสมาธิ
          ถ้าหากว่าผู้บำเพ็ญสมาธิ มุ่งที่จะให้จิตสงบ ให้มีจิตมั่นคงต่อการทำความดี และเพื่อจะให้เกิดมีสมาธิ มีสติปัญญารู้แจ้ง เห็นจริงในสภาวธรรมตามความเป็นจริง เพื่อจะได้เป็นอุบายถ่ายถอนราคะความกำหนัดยินดี หรือกิเลสโลภ โกรธ หลง ให้หมดไปจากจิตใจโดยมิได้มุ่งหวังสิ่งอื่นนอกจากความบริสุทธิ์และความพ้นทุกข์ จัดได้ว่าเป็นสัมมาสมาธิ ความคิดเห็นของท่านเหล่านั้น ก็เป็นสัมมาทิฏฐิ
          ใครสามารถทำสมาธิให้จิตสงบลงไปได้แล้วสามารถที่จะอ่านจิตใจของตัวเองให้รู้ซึ้งลงไปว่า สภาพจิตของเราเป็นอย่างไร เรามีกิเลสตัวไหนมาก และควรจะแก้ไขอย่างไร นี่เป็นจุดเริ่มแรกที่เราจะต้องอ่านตัวของเราเองให้ออก เพราะว่าสิ่งอื่นผิด สิ่งอื่นถูกนั้น ไม่สำคัญ แม้ว่าเราจะรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก แต่เป็นเรื่องภายนอกตัวของเรานั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ตรงที่ว่า เราอ่านจิตใจของเรา แล้วก็ปรับโทษตัวเองว่า ตัวเราเองผิด ตัวเองถูก นั่นแหละ… เป็นเรื่องสำคัญที่สุด

           การเรียนรู้มากเป็นเหตุเป็นปัจจัยหรือเป็นอุปกรณ์แก่การปฏิบัติ แต่เมื่อจะให้สำเร็จผล อย่างจริงจังนั้น ต้องอาศัยการทำจริง อาศัยหลักโพชฌงค์ ภาวิตา พหุลีกตา อบรมให้มาก ๆ กระทำให้มาก ๆ ทำให้ชำนิชำนาญ
          การปฏิบัติธรรม การปฏิบัติกรรมฐาน เราปฏิบัติเพื่อทำจิตของเราให้มีสมาธิ ให้มีสติปัญญารู้จริงเห็นจริงในสภาวธรรม ตามความเป็นจริง เพื่อให้จิตของเราเป็นอิสระมีอำนาจเหนืออารมณ์ทั้งปวง เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมจึงไม่จำเป็นต้องไปอาศัยพลังจิตของใครมาช่วยจิตใจของเรา และไม่จำเป็นต้องไปอัญเชิญเอาอำนาจบนฟ้าบนสวรรค์มาช่วยให้เราปฏิบัติเห็นผลง่าย ๆ

          เป็นนักปฏิบัติสมาธิ อย่าไปติดวิธีการ ถ้าเราไปติดวิธีการแล้วเราจะเอาวิธีการนั้นมาฟัดกัน เสร็จแล้วก็จะเกิดทะเลาะกัน การทำสมาธิเป็นกิริยาของจิต
          นั่งทำสมาธิได้ เดินทำสมาธิได้ นอนทำสมาธิได้ หรือใครจะแน่จริง วิ่งทำสมาธิก็ได้
          ถ้าหากการปฏิบัติ เราไม่ยึดวิธีการเป็นใหญ่ เราเอาประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในจิตเป็นเครื่องตัดสิน เราจะหมดปัญหาข้อสงสัย เราต้องตั้งใจมั่นแน่วแน่ลงไปว่า

๑. เรามีจิตมีใจ มีสมรรถภาพพอที่จะปฏิบัติได้
๒. อารมณ์ที่มาเป็นคู่กับจิตที่เรานึกถึงนั้น ดีพอที่จะกล่อมจิตของเราให้เข้าไปสู่ความสงบ
๓. ตั้งใจทำจริง คือนึกถึงสิ่งนั้นจริงๆ

          จิตที่มีความคิดก็ดี จิตที่มีเครื่องรู้ก็ดี นั่นดีสำหรับผู้ปฏิบัติ ถ้าจิตไปนิ่งอยู่เฉยๆ ไม่มีเครื่องรู้ สติไม่มีเครื่องระลึก นั่นลำบากสำหรับนักปฏิบัติ เพราะถ้าหากผู้ปฏิบัติไปติดความนิ่ง ซึ่งไม่มีเครื่องรู้อะไร ถ้าหากว่าจิตดำเนินไป ก็เดินไปในแง่ของฌาน ฌานชนิดที่ไม่มีเครื่องรู้ แต่จิตจดจ้องอยู่ในจุดเดียว หนัก ๆ เข้า เมื่อติดฌานแล้ว จิตก็ไม่ก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนา เมื่อจิตเบื่อฌานแล้ว จิตจะกลายเป็นจิตหดหู่เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติท่านใด เมื่อจิตมีเครื่องรู้ สติมีเครื่องระลึก นั่นเป็นการดีสำหรับนักปฏิบัติ
          แม้ว่าผู้ภาวนาอาจสร้างนิมิต เป็นดวงอะไรได้ก็ตาม หรืออาจเห็นภาพนิมิตต่างๆ ก็ตาม หรือสามารถจะทำจิตให้บันดาลให้เกิดภูมิความรู้อะไร ได้มากมายก่ายกองสักเพียงใดก็ตาม แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงสภาวธรรมเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติเท่านั้น ถ้าใครไปยึดเอาความรู้ความเห็นความเป็นเช่นนั้นเป็นสาระแก่นสารในการปฏิบัติ ไม่ยึดเอาตัวสติที่มีความมั่นคง ซึ่งสามารถรู้เท่าทันเหตุการณ์ภายในจิตทั้งภายนอกและภายในได้ ก็ยังชื่อว่าจับหลักการปฏิบัติได้ไม่แน่นอน
          เห็นจะเป็นเพราะว่าเราไปยึดเอาสิ่งรู้ สิ่งเห็นเป็นเรื่องสำคัญ นักปฏิบัติของเราจึงได้วุ่นวายในสังคมพระพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้ แต่ถ้าหากเรามายึดเอาตัวสติเป็นตัวการสำคัญ ที่เราจะพึงปรารถนาในการปฏิบัติธรรมนี้ถ้าทำได้แล้ว เข้าใจว่าความยุ่ง ความวุ่นวายต่างๆ อาจจะไม่เกิดขึ้น

 


หลุดพ้นได้ด้วย … ปัญญา

          การบรรลุธรรมของผู้ปฏิบัติ ต้องประกอบด้วยลักษณะ ๓ อย่างคือ
          ๑. ความรู้ ที่เกิดขึ้นภายในจิต
          ๒. ความเห็น คือเห็นด้วยกับความรู้นั้น
          ๓. สภาพจิตที่เป็น หมายถึงการปล่อยวาง
          ประกอบพร้อมด้วยลักษณะสามอย่างนี้ จึงจะได้ชื่อว่า เรามีทั้งรู้ ทั้งเห็น ทั้งเป็น
          ความจริงคำว่า "ความรู้" ตามความหมายของคำว่า "รู้" ในสมาธิหรือสมาธิปัญญานั้น ก็หมายถึงจิตที่สามารถรู้ทันอารมณ์ต่างๆ ที่เราเคยนึกคิดว่ามันวุ่นวายมาแต่ก่อน โดยปกติ เรายังไม่มีสมาธิ ไม่มีสติปัญญารู้เท่าทันอารมณ์ เราดูอะไร เราได้ยินได้ฟังอะไร สัมผัสอะไรในทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็มีอยู่ ๒ อย่าง คือ พอใจ ไม่พอใจ นอกจากจะเกิดความพอใจไม่พอใจแล้ว ยังต้องปรุงแต่งอีก แล้วหาเรื่องไปเรื่อยๆ จนตัวเองต้องเกิดทุกข์เกิดวุ่นวายขึ้นมา แต่ถ้าเรามีสมาธิ มีสติปัญญารู้เท่าทัน เรามองดูอะไรทางตา ได้ยินอะไรทางหู รู้อะไรทางจมูก รู้รสทางลิ้น สัมผัสทางกาย แม้แต่นึกคิดทางใจ เรามีสติคอยจ้องดูอยู่ไม่เผลอ ความรู้ทั้งหลายเหล่านั้นมันจะกลายเป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ เพราะอาศัยความรู้เท่าทันอารมณ์ที่ผ่านเข้ามา สิ่งใดที่เรารู้เท่าทัน สิ่งนั้นไม่สามารถดึงใจของเราให้ทรมาน ให้เกิดทุกข์ได้ นี่คือผลที่จะพึงเกิดขึ้น
          พระพุทธเจ้าสอนว่า คนที่ยังมีกิเลสเป็นเชื้ออยู่ แม้การทรมานตนด้วยการย่างตนบนถ่านเพลิง ด้วยการทรมานตัวเองด้วยวิธีการต่างๆ ก็ไม่สามารถทำให้เขาหมดกิเลสไปได้ แต่กิเลสจะหมดไปด้วยเหตุผล เราจะรู้เหตุรู้ผลก็ต้องค้นคิดพิจารณา เมื่อเราค้นคิดพิจารณาจิตมันรู้เหตุรู้ผลว่าทุกข์เกิดจากไหน สุขเกิดจากอะไร ทำอย่างนี้เป็นทุกข์ไหม ทำอย่างนั้นเป็นสุขไหม มันรู้เหตุรู้ผลแล้ว มันก็ปล่อยวางไปเอง ถ้าเรายังไม่รู้จริงเห็นจริงแล้ว เราจะละอย่างไรก็ละไม่ได้หรอกกิเลส
          กิเลสนั้นมันละไม่ได้ ถ้าตราบใดจิตของเราไม่มีศีล ไม่มีสัจจะ ไม่มีสุตะ ไม่มีปัญญา ไม่มีจาคะ ไม่มีวิมุตติคือความหลุดพ้น แม้ว่าเราจะตั้งใจพยายามที่จะละกิเลสอย่างไรก็ตาม เราก็ไม่สามารถที่จะละได้
          ผู้ที่จะละกิเลสได้ ต้องทำจิตให้เป็นศีล คือตัวปกติ นอกจากจะมีศีลแล้วต้องมีสัจจะ นอกจากมีสัจจะแล้วต้องมีสุตะ คอยสดับตรับฟังสิ่งที่เกิดกับจิตด้วยความมีสติสัมปชัญญะ
          โดยธรรมชาติของจิต ในเมื่อมีสิ่งรู้ปรากฏการณ์อยู่ เรามีสติดูอยู่ ปัญญาย่อมบังเกิดขึ้น เมื่อปัญญาบังเกิดขึ้นแล้ว วิชชาก็ย่อมบังเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตของเราก็สามารถสละคืน (จาคะ) ซึ่งกิเลสทั้งปวงได้ แล้วก็หลุดพ้น คือ วิมุตติ
          นี่คือวิถีทางของการดูจิต ถ้าจะว่าโดยสรุปย่อๆ แล้วมีเพียงแค่นี้


Last Updated on Wednesday, 10 November 2010 06:51
 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner