ตามรู้จิต ตามรู้ความคิด |
Saturday, 19 September 2009 06:33 | |||
ตามรู้จิต ตามรู้ความคิด
ท่านจะนั่งท่าไหน อย่างไร ก็สุดแต่ที่ท่านถนัดที่สุด นั่งในท่าที่สบาย อย่าเกร็งร่างกายหรือกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่ง นั่งให้สบาย หายใจให้สบาย บัดนี้ท่านทั้งหลายได้เตรียมพร้อมแล้ว ขอได้โปรดประนมมือขึ้น น้อมนึกในใจว่า บัดนี้ข้าพเจ้าจะนั่งสมาธิเพื่อปฏิบัติบูชาพระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ ให้จิตของข้าพเจ้าแน่วแน่เป็นสมาธิมีสติปัญญารู้แจ้งแทงตลอดในสภาวธรรมตามความเป็นจริง นึกในใจ พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ น้อมจิตน้อมใจเชื่อมั่นลงไปว่า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ใจ พระธรรมอยู่ที่ใจ พระอริยสงฆ์อยู่ที่ใจ อาการที่พระพุทธเจ้ามีอยู่ที่ใจคือใจรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี อาการที่มีธรรมอยู่ในใจคือการทรงไว้ซึ่งความรู้สึกเช่นนั้นตลอดเวลา อาการที่พระสงฆ์อยู่ในใจคือความมีสติกำหนดจิตนึกบริกรรมภาวนาพุทโธไว้ตลอดเวลาไม่ให้พรากจากกัน แล้วเอามือวางลงบนตัก กำหนดรู้ลงที่จิต นึก พุท พร้อมลมเข้า โธ พร้อมลมออกก็ได้ ถ้านึกพุทโธพร้อมลมเข้าลมออก ช่วงหายใจยังห่าง จิตสามารถส่งกระแสออกไปทางอื่นได้ ให้ปล่อยความรู้ลมหายใจเสีย นึกพุทโธเร็วๆเข้า โดยนึกพุทโธด้วยความเบาใจ อย่าไปข่มความรู้สึก อย่าไปบังคับจิตให้สงบ นึกพุทโธๆๆเอาไว้ อย่าไปนึกว่าเมื่อใดจิตจะสงบ เมื่อใดจิตจะรู้ เมื่อใดจิตจะสว่าง ให้กำหนดรู้ลงที่จิตอย่างเดียว นึกพุทโธๆๆพุทโธก็อยู่กับจิต จิตก็อยู่กับพุทโธ เมื่อมีการตั้งใจนึกพุทโธ สติสัมปชัญญะจะมาเอง หน้าที่เพียงนึกพุทโธๆๆไว้จนกว่าจะถึงเวลาอันสมควร จิตจะสงบหรือไม่สงบไม่สำคัญ ให้เรานึกพุทโธไว้โดยไม่ขาดระยะเป็นเวลานานๆ จนกระทั่งจิตมันคล่องตัวต่อการนึกพุทโธ ในที่สุดจิตจะนึกพุทโธๆๆเองโดยไม่ได้ตั้งใจ เมื่อจิตนึกพุทโธเองโดยไม่ได้ตั้งใจ แสดงว่าการภาวนาของเรากำลังจะได้ผลแล้ว
ในระยะแรกๆ เราจะรู้สึกว่าความสว่างพุ่งออกมาทางสายตา เมื่อกระแสจิตส่งออกไปข้างนอกตามแสงสว่าง จะเกิดภาพนิมิตต่างๆขึ้นมา เมื่อเกิดภาพนิมิตต่างๆขึ้นให้ผู้ภาวนากำหนดรู้อยู่ที่จิตเพียงอย่างเดียว อย่าไปเอะใจหรือตื่นใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ให้กำหนดว่านิมิตนี้เป็นเพียงเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ และนิมิตนี้เกิดขึ้นตอนที่จิตสงบเป็นสมาธิ แล้วประคองจิตให้อยู่ในสภาพที่สงบ นิ่ง สว่างอยู่ตามเดิม ในตอนนี้สำหรับผู้ภาวนาใหม่ สติสัมปชัญญะยังตามเหตุการณ์ไม่ทัน ในเมื่อเกิดนิมิตขึ้นมาแล้วมักจะหลง หลงติด บางทีก็เกิดความดีใจ บางทีก็เกิดความกลัว และเกิดความเอะใจขึ้นมา สมาธิถอน นิมิตนั้นหายไป แต่ถ้าสมาธิไม่ถอน จิตไปอยู่ที่นิมิตนั้น ถ้านิมิตนั้นแสดงความเคลื่อนไหว เช่น เดินไปวิ่งไป จิตของผู้ภาวนาจะละฐานที่ตั้งเดิม ละแม้กระทั่งตัวเอง จิตจะตามนิมิตนั้นไป คิดว่ามีตัวมีตน เดินตามเขาไป เขาพาไปขึ้นเขาลงห้วยหรือไปที่ไหนก็ตามเขาไปเรื่อยๆ ถ้าหากว่าผู้โชคดีก็ไปเห็นเทวดา เทวดาก็พาไปเที่ยวสวรรค์ ถ้าหากว่าผู้โชคไม่ดีจะไปเห็นสัตว์นรก สัตว์นรกก็พาไปเที่ยวนรก อันนี้เพราะผู้ภาวนามีสติยังอ่อน ยังควบคุมจิตของตนเองให้รู้อยู่ภายในไม่ได้ ในเมื่อเห็นนิมิตต่างๆอย่างนั้น อย่าไปสำคัญว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นเป็นของดีวิเศษ แท้ที่จริงเป็นแต่เพียงเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติเท่านั้น นักภาวนาที่ฉลาดจะกำหนดรู้อยู่ที่จิต ถึงความรู้สึกว่านิมิตสักแต่ว่านิมิต ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา แล้วก็ประคองจิตให้อยู่ในสภาวะเดิมไม่เปลี่ยนแปลง สมาธิจิตจะสงบนิ่งอยู่ นิมิตเหล่านั้นจะทรงตัวอยู่ให้เราได้พิจารณาได้นาน บางทีนิมิตนั้นอาจจะเกิดประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติ ทำให้เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทันเหตุการณ์ภายใน แต่แท้ที่จริงนิมิตนั้นแม้จะเป็นสิ่งที่เห็นในสมาธิก็ตาม เป็นเพียงเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ เหมือนมองเห็นรูปด้วยตาภายนอกเมื่อเรายังไม่ได้กำหนดจิตทำสมาธิ จะมีค่าเหนือกว่ากันหน่อยก็ตรงที่อันหนึ่งเห็นด้วยตาธรรมดา แต่อีกอันหนึ่งเห็นด้วยอำนาจสมาธิ แต่ ถ้าไปหลงติดนิมิตนั้นก็เป็นผลเสียสำหรับผู้ปฏิบัติ บางครั้งไปเข้าใจว่านิมิตนั้นเป็นวิญญาณมาจากโลกอื่น เข้ามาเพื่อจะขอแบ่งส่วนบุญ และเมื่อเห็นเหตุการณ์เช่นนั้น เราก็ตั้งใจแผ่ส่วนบุญส่วนกุศล ในเมื่อคิดแผ่ส่วนบุญส่วนกุศล ความคิดทำให้สมาธิถอน ในเมื่อสมาธิถอนขึ้นมาแล้ว นิมิตนั้นก็หายไปหมด วิญญาณเหล่านั้นเลยไม่ได้รับบุญกุศลที่เราให้
และมีปัญหาที่จะพึงทำความเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง นักภาวนาทั้งหลาย ในการเริ่มภาวนาในตอนต้นๆนี้ เช่น การบริกรรมภาวนา “พุทโธ” เป็นต้น ทำไปแล้วจิตมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา จิตสงบลงเป็นสมาธิ มีความสุขสบายเหลือล้น พอทำจิตไปเรื่อยๆ แล้วภายหลังจิตไม่เป็นเช่นนั้น พอกำหนดลงไปนิดหน่อยมันมีแต่ความคิด บางท่านก็เข้าใจว่าภูมิจิตภูมิใจของตัวเองเสื่อมแล้ว เมื่อก่อนนี้ภาวนาจิตสงบ แต่ขณะนี้จิตไม่สงบ จิตฟุ้งซ่าน แต่ขอให้สังเกตให้ดี ศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ในเมื่อศีลดี สมาธิเกิดขึ้นแล้ว สมาธิก็พลอยดีไปด้วย เรียกว่าสัมมาสมาธิ ในเมื่อสมาธิเป็นสัมมาสมาธิ เป็นอุบายให้เกิดปัญญา ดังนั้น ผู้ภาวนาซึ่งเมื่อก่อนมีจิตสงบนิ่ง ภายหลังมาทำสมาธิมากๆแล้วไม่เกิด เพียงเป็นสมาธิเพียงนิดหน่อย สงบนิดเดียวเท่านั้น แล้วก็มีแต่ความคิดเกิดขึ้นๆไม่หยุดหย่อน ก็ไปเข้าใจว่าการทำสมาธิของตนเองนั้นเสื่อมแล้ว บางท่านก็พยายามบังคับจิตให้หยุดคิด เมื่อเกิดมีการบังคับขึ้นก็เกิดอาการปวดศีรษะ เพราะเป็นการฝืนกฎธรรมชาติที่มันจะเป็นไป เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านพึงสังเกตให้ดี เมื่อทำจิตเป็นสมาธิเมื่อใดก็มีแต่จิตสงบนิ่งเป็นสมถะ มันก็ไม่มีความก้าวหน้า กำหนดจิตพิจารณาลงไปนิดหน่อย จิตสงบ เมื่อสงบแล้วมีความคิด อาการเช่นนี้แสดงว่าจิตกำลังก้าวหน้ากำลังอยากค้นคว้าหาความจริงในความเป็นไปของสภาวธรรม
สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากจิตฟุ้งซ่าน เป็นเรื่องของปัญญาที่เกิดมาจากสมาธิ เพราะเราไม่เห็นว่าจิตของเรานี้ฝึกไปได้สารพัดอย่าง ไม่มีขอบเขต เพราะจิตของเราไม่ได้คิดเรื่องรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราจึงสำคัญว่าจิตของเราฟุ้งซ่าน แต่แท้ที่จริง การพิจารณาธรรม รู้ธรรม เห็นธรรมนี้ ก็หมายถึงเห็นความคิด รู้ความคิดของตนนั่นเอง คือความมีสติสัมปชัญญะ เมื่อกำหนดจิตลงไปแล้ว เกิดความคิดขึ้นมา คิดไม่หยุด เราก็ทำสติตามรู้ความคิดดังที่กล่าวแล้ว นี่แสดงว่าจิตต้องการก้าวหน้า ต้องการเดินหน้า ต้องการพิจารณาค้นคว้า ผู้ที่ปฏิบัติรู้เท่าไม่ถึงการณ์คิดว่าจิตของตัวเองฟุ้งซ่าน ก็พยายามบังคับจิตของตนเองอยู่อย่างนั้นแหละ บังคับให้มันหยุดคิด ในเมื่อบังคับแล้วมันจะไม่คิด ไม่คิดก็กลายเป็นจิตที่โง่ คำว่าสมาธิอบรมปัญญาก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้น อย่าพยายามไปบังคับจิตให้หยุดคิด หน้าที่ของเราคือทำสติตามรู้ความคิดไปทำสติตามรู้ไป ความคิดนั่นแหละคือเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ ความคิดเป็นฐานที่ตั้งอันมั่นคงของสติ ตราบใดที่จิตยังมีความคิด สติยังมีความระลึก สิ่งที่เราจะพึงได้จากการภาวนาคือความที่สติมีพลังแก่กล้าขึ้นจนเป็นมหาสติ เป็นสติที่มีฐานที่ตั้งอย่างมั่นคง แล้วกลายเป็นสติพละ เป็นสติที่มีพละกำลังอันเข้มแข็ง กลายเป็นสตินทรีย์ สติเป็นใหญ่ในธรรมทั้งปวง เมื่อเป็นสติพละ เป็นสตินทรีย์ เมื่อสติตัวนี้เพิ่งพลังแก่กล้าขึ้น จึงกลายเป็นสติวินโย จิตของเราจะมีสติเป็นผู้นำ แม้จะตั้งใจก็ตาม ไม่ตั้งใจก็ตาม จิตจะมีความสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดีอยู่ตลอดเวลา ในเมื่อจิตกระทบอารมณ์อันใดขึ้นมา สติตัวนี้จะออกไปรับและพิจารณาให้เกิดรู้เหตุรู้ผลขึ้นมา เมื่อรู้เหตุรู้ผลแล้วจิตมันก็จะปล่อยวางไปเอง
|