วิถีแห่งจิต
Saturday, 06 November 2010 03:33

วิถีแห่งจิต
โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
เทศนาอบรมนักเรียน โรงเรียนสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา
และโรงเรียนวรคุณอุปภัมภ์ อ.อุทุมพรพิสัย จ.นครราชสีมา
ณ วัดวะภูแก้ว อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา
วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๓๕

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

 

           ตั้งใจทำสมาธิ นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือซ้ายวางลงบนตักมือขวาวางลงบนมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น หายใจเข้านึก พุท หายใจออกนึก โธ หายใจเข้า ธัม หายใจออก โม หายใจเข้า สัง หายใจออก โฆ  แล้วทำความรู้สึกในจิตว่า คุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ อยู่ในจิตของเราแล้ว เราจะกำหนดรู้จิตของเราอย่างเดียว ความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตของเราอยู่ที่นั้น มีสติกำหนดรู้ที่นั่น


          หายใจให้เป็นปกติ อย่าไปแต่งหรือบังคับลมหายใจ ลองไม่นึกถึงอะไรในขณะนั้น แต่ให้มีสติกำหนดรู้ลมหายใจออก หายใจเข้า เพียงแต่ให้รู้ว่ามีลมหายใจ เอาลมหายใจเป็นสิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติ เพียงแต่รู้เฉย ๆ อย่าไปนึกว่าลมหายใจสั้น ลมหายใจยาว หน้าที่ของเรารู้อยู่เฉย ๆ ลมหายใจเป็นธรรมชาติของกาย เรามากำหนดรู้ธรรมชาติของกาย ที่ว่าลมหายใจเป็นธรรมชาติของกาย เพราะเหตุว่าเราจะตั้งใจก็ตามไม่ตั้งใจก็ตาม การหายใจของเรามีอยู่เป็นปกติทั้งหลับและตื่นสิ่งใดที่เป็นไปตามธรรมชาติโดยที่เราไม่ได้ต้งใจ สิ่งนั้นคือธรรมชาติหรือธรรมดาที่มีอยู่ในกายของเรา ที่ให้กำหนดรู้ลมหายใจ ก็เพราะเหตุว่าเมื่อจิตของเราอยู่ว่าง ๆ สิ่งที่ปรากฎเด่นชัดที่สุดก็คือลมหายใจ

          การปฏิบัติสมาธิตามหลักทางสายกลางคือมัชฌิมาปฏิปทา ได้แก่การกำหนดรู้สิ่งที่มีอยู่โดยธรรมชาติ เมื่อเรามากำหนดรู้อยู่กับสิ่งธรรมชาติได้ชื่อว่าศึกษาเรียนให้รู้ธรรมชาติของธรรมะ เพราะลมหายใจเป็นธรรมะโดยธรรมชาติ เป็นสภาวธรรมเกี่ยวเนื่องด้วยวัตถุธรรม คือ ปอดเป็นผู้สูดอากาศเข้าสูดอากาศออก เพื่อนำออกซิเจนไปบำรุงเลี้ยงร่างกายของเราให้เจริญเติบโตหรือดำรงชีวิตอยู่ เพราะร่างกายของเรานี่ประกอบขึ้นด้วยวัตถุ 4 อย่าง วัตถุอันนั้นท่านเรียกว่า ธาตุ 4 ปฐวีธาตุคือธาตุดินอาโปธาตุคือธาตุน้ำ วาโยธาตุคือธาตุลม เตโชธาติคือธาตุไฟ


          ปฐวีธาตุคือสิ่งที่มีลักษณะแค่นและแข็ง เรามองเห็นด้วยตาจับต้องได้ด้วยมือ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ม้าม หัวใจ ตับ ปอด พังผืด ไส้น้อย ไส้ใหญ่ อาหารใหม่ อาหารเก่า อันนี้เป็นธาตุดิน เรียกว่าปฐวีธาติ อาโป ธาตุน้ำ ได้แก่ น้ำดี น้ำเสลด น้ำหนอง น้ำเหลือง น้ำโลหิต ไขมัน มูตร น้ำตา อันนี้เป็นธาตุน้ำ เรียกว่า อาโปธาตุ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมในท้อง ลมในไส้ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องล่าง ลมหมุนเวียนไปทั่วร่างกาย อันนี้เป็นธาตุลม เรียกว่า วาโยธาตุ ความอบอุ่นที่มีอยู่ในร่างกายของเรา ซึ่งมีอาการร้อน ความร้อนเป็นอาการของไฟ ไฟเผาอาหารให้ย่อยซึ่งเรียกว่า ไฟธาตุ ไฟทำกายให้กระวนกระวาย ไฟทำกายให้คร่ำคร่า ไฟทำกายให้เจริญ เรียกว่า ธาตุไฟ อันเป็นส่วนประกอบของความเป็นร่างกาย ร่างกายของเราคือธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ


          เมื่อร่างกายของเราคือ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เราก็ต้องอาศัยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งเป็นของภายนอก นำเข้าไปบำรุงเลี้ยงร่างกายให้ดำรงชีวิตอยู่ อาหารที่เราบริโภคเข้าไปเป็นคำ ๆ ข้าวสุก แกง กับ ขนม ถั่ว งา ผลไม้ เป็นต้น อันนี้เป็นธาตุดิน เรารับประทานเข้าไปเลี้ยงร่างกาย สิ่งที่เราดื่มเข้าไปมีลักษณะเหลวเรียกว่า ธาตุน้ำ เช่น น้ำเปล่า ๆ น้ำโพลาริส น้ำกาแฟ น้ำชา น้ำหวาน อะไรที่เป็นน้ำที่เราดื่มเข้าไปนั่นมันเป็นธาตุน้ำ เรียกว่า อาโปธาตุ ลมที่มีอยู่ในท้องในไส้ ลมที่เราหายใจเข้าไป อันนั้นเป็นธาตุลมที่นำเข้าไปเลี้ยงร่างกาย ความร้อนที่ได้มาจากดวงอาทิตย์ ความอบอุ่น เช่น ความอบอุ่นจากแสงแดด ความอบอุ่นจากกองไฟ ความอบอุ่นซึ่งได้จากผ้าห่มหรือเสื้อผ้า ความอบอุ่นก็ดี ความร้อนก็ดี เป็นธาตุไฟภายนอก ซึ่งเรียกว่า เตโชธาตุ ทั้ง ๔ อย่างนี้แหละเป็นปัจจัยสำหรับบำรุงเลี้ยงชีวิตของคนและสัตว์ทั้งหลายให้เป็นอยู่


          มนุษย์เราก็มีกายกับจิต สัตว์ทั้งหลายก็มีกายกับจิต เมื่อมนุษย์เรามาศึกษาให้รู้ความเป็นจริงของร่างกาย คือรู้ว่าร่างกายนี้เป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ดังที่กล่าวมาแล้ว แล้วเราก็เอาธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ภายนอกเข้าไปบำรุงเลี้ยงให้ดำรงชีพอยู่ อันนี้เป็นความจริงของชีวิต จะขาดเสียมิได้

          ในบรรดาธาตุทั้งสี่นั้น ธาตุลมเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น เราสามารถที่จะอดอาหารได้ตั้งหลายวัน อดน้ำได้ตั้งหลายชั่วโมง แต่อดหายใจเพียง ๒ นาที ใจขาดตาย เพราะฉะนั้น ลมหายใจเป็นเครื่องหมายของความเป็นความตาย พระพุทธเจ้าปฏิบัติกรรมฐาน ท่านก็อาศัยลมหายใจเข้าหายใจออกเป็นอารมณ์จิต ท่านปฏิบัติเหมือนที่เราปฏิบัติอยู่เวลานี้ เวลานี้เรามีสติน้อมจิตไปกำหนดรู้ลมหายใจ อันนี้เรียกว่าปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธเจ้า

          เมื่อจิตของเรามาจดจ้องอยู่กับลมหายใจอย่างไม่ลดละ แม้จะเป็นไปด้วยความตั้งใจก็ตาม เราตั้งใจกำหนดรู้ลมหายใจเข้า หายใจออกเป็นภาคปฏิบัติ เมื่อเราปฏิบัติจนคล่องตัวชำนิชำนาญ ในที่สุดเราจะรู้สึกว่าไม่ได้ตั้งใจกำหนดรู้ลมหายใจ แต่จิตของเราจะรู้เองโดยอัตโนมัติ เมื่อจิตของเรารู้ลมหายใจโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ ได้ชื่อว่าการภาวนาได้วิตก วิตกคือจิตนึกถึงลมหายใจไม่ลดละ ไม่ขาด เมื่อเป็นเช่นนั้น การที่จิตไปกำหนดจดจ้องรู้อยู่ที่ลมหายใจเพียงอย่างเดียว ไม่ยอมทอดทิ้งลมหายใจ นั่นแสดงว่าจิตของเรามีสติอยู่โดยอัตโนมัติ คือเราไม่ได้ตั้งใจจะรู้แต่จิตของเรารู้เอง เป็นลักษณะของวิตกซึ่งเป็นองค์ประกอบของสมาธิ เมื่อมีสติรู้พร้อมอยู่ สติ จิต ลมหายใจ ไม่พรากจากกัน อันนี้เรียกว่าสมาธิได้วิตกวิจาร จิตยึดเอาลมหายใจเป็นสิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติอย่างมั่นคงเมื่อจิตมีวิตก วิจาร เราจะรู้สึกว่ากายเบา จิตก็เบา กายก็สงบ จิตก็สงบ กายเบามีลักษณะเหมือนตัวเองจะลอยขึ้นสู่อากาศ มีความรู้สึกเหมือนกับเราไม่ได้อยู่กับพื้น เบาสบายทุกอย่าง จิตเบาคือจิตปลอดโปร่ง แช่มชื่นเบิกบาน กายสงบหมายถึงสงบจากทุกขเวทนา ความปวด ความเมื่อย จิตสงบนิ่ง รู้อยู่ที่ลมหายใจเข้า หายใจออกตลอดเวลา อันนี้เรียกว่า กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ


          ความเบากาย เบาจิต เป็นอาการของปีติที่บังเกิดขึ้น ปีติที่บังเกิดขึ้นทำให้รู้สึกตัวเหมือนจะลอยขึ้นบนอากาศ ทำให้ขนลุกขนพอง บางทีก็ทำให้ตัวโยกตัวสั่น บางทีก็ทำให้รู้สึกว่าตัวโตขึ้น บางทีทำให้รู้สึกว่าตัวเล็กลง บางทีทำให้รู้สึกเหมือนตัวเราลอยไปในอากาศ อาการทั้งหลายเหล่านี้เป็นอาการของปีติ เมื่อมีอาการอย่างนี้เกิดขึ้น ถ้าจิตยังกำหนดรู้ลมหายใจอยู่ ก็ให้รู้ต่อไป ถ้าลมหายใจไม่ปรากฎ ให้กำหนดรู้จิตเพียงอย่างเดียว แม้จะมีอาการอะไรเกิดขึ้นก็อย่าไปตกใจ ประคับประคองจิตเราให้อยู่ในสภาพปกติ บางทีจะให้รู้สึกว่าลมหายใจแรงขึ้นก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ บางทีรู้สึกว่าลมหายใจแผ่วเบาลง เบาลง ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่ออาการของปีติบังเกิดขึ้นทำให้จิตของเราแจ่มใส เบิกบาน มีความสุข ความสบาย หายเมื่อย หายมึน หายงง ทุกสิ่งทุกอย่างคล่องตัวไปหมด เรียกว่าจิตมีปีติ มีความสุข เป็นองค์ประกอบของสมาธิในชั้นณาน

          เมื่อเป็นเช่นนั้น กายสงบ จิตสงบ จิตก็บ่ายหน้าไปสู่ความสงบเรื่อยไป เมื่อเกิดความสงบแล้วบางทีทำให้รู้สึกว่าสว่างไสวเหมือนแสงจันทร์ แสงอาทิตย์ อย่าไปตกใจ กำหนดรู้จิตเราเฉยอยู่ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องที่จิตของเราปรุงแต่งขึ้นทั้งนั้น อย่าไปเอะใจ อย่าไปตกใจ มันเป็นธรรมชาติของจิตที่ดำเนินเข้าไปสู่ความเป็นสมาธิ บางทีจะรู้สึกว่าลมหายใจหายขาดไป รู้สึกว่าไราไม่หายใจ เพราะลมมันละเอียดไปตามลำดับของจิต แล้วใจที่สุดความรู้สึกว่ามีร่างกายมันก็จะหายไปหมด ยังเหลือแต่จิตเป็นดวงใสสว่างลอยเด่นอยู่เพียงดวงเดียว ในตอนนี้จิตเข้าไปสู่สมาธิขั้นละเอียดซึ่งเรียกว่า อัปปนาสมาธิ มัลักษณะรู้ ตื่น เบิกบาน จิตแบบนี้เรียกว่า จิตพุทธะ จิตถึงพระพุทธเจ้า จิตเป็น อัตตาทีปะ มีตนเป็นเกราะ คือมั่นคงอยู่ที่จิตอย่างเดียว เป็น อัตตะ สะระณา มีตนระลึกรู้อยู่ที่ตน คือรู้อยู่ที่จิตอย่างเดียว เป็น อัตตาหิ อัตตะโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน ว่าโดยณานเรียกว่า อัปปนาณาน ว่าโดยสมาธิเรียกว่าอัปปนาสมาธิ ว่าโดยจิตเรียกว่า อัปปนาจิต จิตที่สงบ นิ่ง สว่างไสว ไม่มีร่างกายตัวตนปรากฎ เป็นสมาธิในจุดตถณาน ถ้าจิตมีวิตก วิจาร ปีติสุข เอภัคคตา พร้อมทั้ง ๕ อย่าง ร่างกายตัวตนยังปรากฎอยู่ เป็นจิตอยู่ในปฐมณาน ทีนี้ถ้าจิตมารู้อยู่ที่จิต มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่งคือรู้อยู่ที่จิตเพียงอย่างเดียว เป็นสมาธิในขั้นทุติยณาน ถ้าอาการของปีติหายไป ยังเหลือแต่สุขกับความเป็นหนึ่งซึ่งเรียกว่าเอกัคคตา เป็นสมาธิในขั้นตติยณาน ถ้าสุขหายไปเพราะร่างกายหายไปหมดแล้ว ยังเหลือแต่จิตดวงเดียว นิ่ง สว่างไสว มีความเป็นหนึ่ง วางตัวเป็นกลางโดยอิสระ ซึ่งประกอบด้วยเอกัคคตา และอุเบกขาคือความเป็นกลางของจิตเรียกว่า สมาธิอยู่ในณานที่ ๔ อันดับของสมาธิในขั้นของสมถกรรมฐานจะเป็นไปอย่างนี้


          ที่นี้ถ้าหากว่าจิตของเราทรงอยู่ในณานจนคล่องต้วชำนิชำนาญ ในบางครั้งจิตถอนตัวจากณานที่ ๔ ที่ ๓ ที่ ๒ ย้อนมาทรงตัวอยู่ในปฐมณานมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ในขั้นนี้บางทีจิตของเราอาจจะเกิดความรู้ความคิดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ เมื่อจิตมีความคิดเรียกว่าวิตก สติรู้พร้อมอยู่เรียกว่าวิจาร อาศัยพลังสมาธิ พลังณานที่ผ่านมาแล้ว จิตสามารถเกิดความรู้ความความคิดขึ้นมาเอง เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจะปฏิบัติต่อจิตเช่นนี้อย่างไร เราปฏิบัติต่อจิตเช่นนี้ เมื่อคิดปล่อยให้คิดไป เมื่อจิตเขาคิดขึ้นมาเองปล่อยให้เขาคิดไป แต่ให้มีสติกำหนดรู้ความคิดเฉยอยู่เหมือนกับรู้ลมหายใจในตอนแรก


          มาตอนนี้เราจะได้ศึกษาให้รู้ความเป็นจริงของจิต ความคิดเป็นธรรมชาติของจิต ธรรมชาติของจิตย่อมมีความคิด ความคิดเป็นอาหารของจิต ความคิดเป็นการบริหารจิตให้เกิดมีพลังงาน ความคิดเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียด ความคิดเป็นเครื่องหมายให้เรากำหนดรู้ว่า อะไรเกิดขึ้นดับไป ความคิดเกิดขึ้น ความคิดดับไป เมื่อจิตมีสติกำหนดรู้อยู่เองโดยอัตโนมัติ เรียกว่า การกำหนดรู้ความเกิดและความดับภายในจิต เป็นก้าวแรกของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อเราปล่อยให้จิตของเราคิดไป คิดไป ดูเหมือนเราไม่ได้ตั้งใจจะคิดแต่จิตคิดขึ้นมาเอง ดูเหมือนเราไม่ได้ตั้งใจจะรู้ แต่ตัวรู้คือสติจะกำหนดตามรู้เองโดยอัตโนมัติ ปล่อยให้คิดไปเพราะความคิดเป็นวิตก ตัวรู้นั่นเป็นวิจาร เมื่อจิตมีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึกเขาย่อมมีความดูดดื่มซึมซาบในอารมณ์ แล้วจะเกิดอาการกายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ แล้วก็เกิมีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง เมื่อร่างกายยังปรากฎในความรู้สึก ความคิดมันจะเร็วขึ้น ๆ สติก็จะทำหน้าที่กำหนดความรู้ไปจนกว่าจะสุดช่วง เมื่อจิตของเราคิดไปจนสุดช่วงแล้วเขาจะหยุดกึกลงไป นิ่ง แล้วก็สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน เข้าไปสู่ณานที่ ๔ อีกครั้งหนึ่ง ไปสงบนิ่งอยู่พอสมควร พอจิตถอนจากสมาธิออกมา พอรู้สึกว่ามีกาย ความคิดจะเกิดขึ้นอีก ความคิดคราวนี้จะเป็นความรู้ไปทางด้านวิปัสสนา เขาจะรู้ว่า อ้อ! ความคิดเป็นอาหารของจิต ความคิดเป็นการบริหารจิต ความคิดเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียด ความคิดเป็นเครื่องหมายให้เราสามารถกำหนดรู้ว่า อะไรเกิด ดับ ไม่เที่ยว เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้ามีสติปัญญาแก่กล้ากว้างขวางกว่านี้ ก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า ความคิดนี้เองมันมายั่วยุให้เราเกิดกิเลสและอารมณ์ แล้วทำให้เกิดความพอใจ ไม่พอใจ ถ้าเกิดความพอใจก็เป็นกามสุขัลลิกานุโยคใจเป็นสุข ถ้าเกิดความไม่พอใจก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค ทรมานจิตให้เป็นทุกข์


          เมื่อผู้ปฏิบัติมีสติสัมปชัญญะ รู้พร้อมเป็นอัตโนมัติอยู่ที่จิต เมื่อพลังของสติแก่กล้าขึ้น เขาจะอ่านความสุข ความทุกข์ออกมาเป็นภาษาเป็นความรู้ คือเขาจะรู้ว่านี่คือทุกขอริยสัจที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ แล้วจิตดวงนี้จะสามารถกำหนดรู้สุข รู้ทุกข์ไปเอง พอกำหนดรู้สุขรู้ทุกข์ไปเองในที่สุดก็เกิดความรู้ว่า นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรอับ ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นดับไป เมื่อจิตถอนจากสมาธิมาแล้วก็จะได้ความรู้เป็นบทสรุปความครั้งสุดท้ายว่า ยังกิญจิ สมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา ก็ได้ดวงตาเป็นธรรม รู้แจ้งเห็นชันในอริยสัจ ๔ อริยสัจ ๔ สุข ทุกข์ ปรารกฎ ทำให้จิตมองเห็นความทุกข์ ซึ่งเรียกว่าทุกขอริยสัจจิตกำหนดหมายรู้ทุกข์เป็นอารมณ์ กำหนดรู้เพียงแค่เกิด-ดับ เกิด-ดับ เมื่อเกิดมีความยินดี จิตก็จะรู้ว่านี่คือกามตัณหา ถ้าจิตมีความยินร้ายไม่พอใจ นี่คือตัววิภาวตัณหา ในเมื่อเรามีความพอใจ ไม่พอใจ สุขและทุกข์ก็ย่อมบังเกิดขึ้น ทำให้จิตของผู้มีปัญญาเกิดความรู้ขึ้นมาว่า นี่หนอคือตัวสมุทัยอันเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด ทั้งสุข ทั้งทุกข์ ท่านบัญญัติว่าเป็นทุกขสมุทัย ทุกขสมุทัยตัวนี้มันเกิดเพราะความยินดี เกิดเพราะความยินร้าย ซึ่งเรียกว่ากามตัณหา วิภวตัณหา ในท่ามกลางของกามตัณหา วิภวตัณหา จิตไปยึดมั่นถือมั่นอยู่ที่สุขที่ทุกข์ ก็เป็นภวตัณหา ก็ก่อทุกข์ก่อชาติก่อภพขึ้นมา จิตก็มีอารมณ์ปรุงแต่ง


          ทำไมมันจึงเกิดทุกข์ ทำไมมันจึงเกิดสุข ความปรุงแต่งของจิตว่าทำไมมันจึงเกิดทุกข์ ทำไมมันจึงเกิดสุข อันนี้เป็นตัวสังขาร สังขารา อนิจจา สังขารคือความปรุงแต่ง เป็นสภาวะที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ ที่นี้ในเมื่อจิตของเราไม่ยึดมั่นในสุขและทุกข์ ไม่มีความยินดี ไม่มีความยินร้าย ไม่มีกามตัณหา ไม่มีวิภวตัณหา หรือภวตัณหาจิตก็เป็นกลาง ไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์นั้น ๆ ทรงสมาธิอยู่ด้วยความมั่นคง จิตมีสติสัมปชัญญะ รู้พร้อม สามารถประคองจิตให้สงบนิ่ง เด่นอยู่ท่ามกลางสุขและทุกข์ ไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์นั้น ๆ จิตเป็นกลางโดยเที่ยงธรรม ไม่มีความยินดี ไม่มีความยินร้าย ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ ทุกข์ดับไป ในเมื่ออาการของทุกข์ดับไป จิตเป็นกลาง เป็นนิโรธะ คือนิโรธความดับทุกข์ ในเมื่อจิตเป็นกลางโดยเที่ยงธรรม จิตก็เป็นปกติตามปกติ ของจิตนั่นแหละคือศิล ความมั่นคงของจิตคือสมาธิ ความรู้รวมอยู่ที่จิตเรียกว่าปัญญา นี่ผลงานซึ่งจะเกิดจากการปฏิบัติ


          ที่นี้ในบางครั้งนักเรียนภาวนาอะไรก็ตาม ภาวนาพุทโธก็ตาม ยุบหนอ-พองหนอก็ตาม สัมมาอรหังก็ตาม เมื่อจิตสงบ นิ่ง สว่าง บางทีเราจะมีความรู้สึกเหมือนความสว่างพุ่งออกไปทางหน้าผาก เหมือนไฟฉายเมื่อเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ให้กำหนดรู้จิตเฉยอยู่บางทีจะเกิดนิมิตเห็นคน เห็นสัตว์ เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งแล้วแต่จิตจะปรุงเป็นมโนภาพขึ้นมาเมื่อเป็นเช่นนั้นให้กำหนดจิตวางเฉพย อย่าไปเกิดเอะใจ ตกใจ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของจิตเราสร้างขึ้นทั้งนั้น เขาสร้างขึ้นมาทำไม สร้างขึ้นมาเพื่อสอนตัวเอง จิตสร้างเรื่องราวขึ้นมาสอนตัวจิตเอง เมื่อจิตมีความคิด มีความรู้ มีนิมิต แต่จิตมีสติสัมปชัญญะ รู้พร้อม เรียกว่า อัตตะโน โจทะยัตตานัง จิตจะมีสติเตือนตนเองโดยอัตโนมัติ ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติสมาธิเข้าถึงแนวทางที่ถูกต้องเป็นสัมมาสมาธิ


          ที่นำเรื่องการกำหนดรู้ลมหายใจมากล่าวขึ้นก่อน ก็เพราะเหตุว่าพระพุทธเจ้าของเราปฏิบัติตามแนวทางนี้ท่านจึงได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าทีนี้การบริกรรมภาวนา พุทโธ ยุบหนอ-พองหนอ สัมมาอรหัง เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้วจิตจะไม่ท่องบริกรรมภาวนานั้น ๆ จะไปหยุดนิ่งเฉยอยู่ เป็นจิตว่าง ๆ เมื่อจิตมีความว่าง ในขณะที่ว่างนั้น ว่างคือว่างจากความคิด ว่างจากความรู้ ไปนิ่งว่างอยู่เฉย ๆ บางทีก็รู้สึกแจ่ม ๆ บางทีก็รู้สึกสว่าง ในช่วงที่จิตว่างอยู่นั้นเอง จิตเขาจะไปรู้ลมหายใจเองโดยอัตโนมัติ แล้วจะตามลมหายใจเข้าไปสงบ นิ่ง สว่างอยู่ในท่ามกลางของร่างกาย


          การกล่าวถึงเรื่องสมาธิก็ยุติไว้เพียงขั้นนี้ก่อน ถ้าหากเวลาเราทำสมาธิด้วยบริกรรมภาวนา ถ้าภาวนาไปมีอาการเคลิ้ม ๆ เหมือนกับง่วงนอน ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าหากว่าจิตหยุดบริกรรมภาวนาไป นิ่ง ว่างอยู่เฉย ๆ ก็ไม่ต้องไปนึกคิดอะไร ปล่อยให้ว่างเฉยอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องย้อนกลับมาหาบริกรรมภาวนาอีก เช่น ผู้ที่ภาวนา ยุบหนอ-พองหนอ ยุบหนอ-พองหนอ พอจิตสงบวูบลงไปนิ่ง มันจะปล่อยวางคำว่าให้มันว่างอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องมานึกยุบหนอ-พองหนออีก ทีนี้ในช่วงที่จิตว่างอยู่นั้น ถ้าจิตว่างอยู่เป็นชั่วโมงก็ปล่อยให้ว่างไป แต่ถ้าใจช่วงนั้นจิตเกิดมีความคิดความรู้ขึ้นมา ถ้าคิดไม่หยุดก็ปล่อยให้คิดไป แต่เราจะมีสติตามรู้ความคิดโดยอัตโนมัติ ช่วงที่จิตมีความิคดเกิดขึ้น มีสติกำหนดตามรู้เรียกว่า เจริญวิปัสสนา ความจริง คำว่าสมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดี เป็นแต่เพียงชื่อของหลักและวิธีการปฏิบัติเท่านั้น การปฏิบัติด้วยบริกรรมภาวนาพุทโธ ยุบหนอ-พองหนอ สัมมาอรหัง เรียกว่า ปฏิบัติตามหลักและวิธีการของสมถะ ถ้าหากเราปฏิบัติด้วยการกำหนดตามรู้ความคิด หรือเราหาเรื่องราวมาคิดพิจารณา พิจารณาไปจนกระทั่งจิตมีอากาสงบ อันนี้เรียกว่าปฏิบัติตามวิธีการของวิปัสสนา จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติทั้ง ๒ อย่างนี้ เพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิ ตั้งมั่นแน่วแน่ เกิดสติคือรู้ว่านี่คือสมาธิ ทีนี้จิตไปนิ่งรู้อยู่เฉย ๆ ก็จะรู้ว่านี่คือจิต พอจิตไหวตัวเกิดวามคิด ก็จะรู้ว่านี่ความคิดและอารมณ์เป็นธรรมชาติของจิต การมีสติกำหนดรู้ความคิดเรียกว่ากำหนดรู้ธรรมชาติของจิต ธรรมชาติของกายคือการหายใจ ธรรมชาติของจิตคือความคิด นี่ให้กำหนดรู้ธรรมชาติสองอย่าง


Last Updated on Saturday, 06 November 2010 04:00
 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner