ประวัติ ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม Print
Friday, 16 March 2012 08:38
ดร.ดาราวรรณ  เด่นอุดม

ดร.ดาราวรรณ  เด่นอุดม
ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ 
วัดวะภูแก้ว   อำเภอสูงเนิน    จังหวัดนครราชสีมา

 

ประวัติ

นางสาวดาราวรรณ  เด่นอุดม  
เกิดวันที่  8  พฤษภาคม  2494  อายุ 61 ปี

ประวัติการศึกษา


ม.ศ. 5    โรงเรียนสตรีวิทยา  (ได้คะแนนเป็นอันดับที่ 43 ของประเทศ)
อักษรศาสตร์บัณฑิต  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (Ph.D)   มหาวิทยาลัย    Grenoble  ประเทศฝรั่งเศส   (คะแนนเกียรตินิยมดีเยี่ยม   เป็นอันดับ 1 ของรุ่น)


ประวัติการทำงาน

 2516 – 2521       ครูสอนภาษาฝรั่งเศส   โรงเรียนวัดมกุฎกษัตริย์


 2523 – 2544       ศึกษานิเทศก์   กรมสามัญศึกษา  เขตการศึกษา 11  
                             รับผิดชอบงานนิเทศการสอนวิชาภาษาฝรั่งเศส 
                             และ งานปลูกฝังคุณธรรม

 2544 – ปัจจุบัน     ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ 
                             วัดวะภูแก้ว  อำเภอสูงเนิน    จังหวัดนครราชสีมา

เกียรติประวัติ


2540        รางวัลเสาเสมาธรรมจักร   (ผู้ทำประโยชน์ต่อ   
                พระพุทธศาสนา   สาขาส่งเสริมผู้ปฏิบัติธรรม)


2544        ได้รับการประกาศเกียรติคุณ  จากสภาการศึกษาเป็น
               ครูภูมิปัญญาไทย   ด้าน ปรัชญา  ศาสนา และ
               ประเพณี  รุ่นที่ 2


          ดร. ดาราวรรณ  เด่นอุดม  เป็นบุคคลที่ทำงานมุ่งมั่นสร้างสรรค์สิ่งดีๆ  สู่สังคมตลอดชีวิต   อุทิศแรงกาย  แรงใจ  ตลอดจนกำลังทรัพย์  กำลังสติปัญญา  ปลูกต้นกล้าธรรมะในจิตใจของเด็กๆ และ บุคคลทั่วไปในสังคม   ทั้งข้าราชการ  นักธุรกิจ  ภาคเอกชน  จนถึงผู้สูงวัย  ทวนกระแสสังคมวัตถุนิยม  ที่ให้ความสำคัญกับความเก่ง เงินตรา และ ยศถาบรรดาศักดิ์  มากกว่าความดี   สังคมปัจจุบันจึงเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยผู้ป่วยทางจิตใจ    ภูมิคุ้มกันความดีบกพร่อง  เสื่อมถอยทางคุณธรรมลงเรื่อยๆ

  


           ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเยียวยาสังคมที่อ่อนแอ  จึงเริ่มต้นที่การพัฒนาตัวเองให้แข็งแกร่งก่อน   ด้วยการฝึกจิตตนเองตามแนวทางของพระพุทธศาสนา  ตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2523   ตามรอยพ่อแม่ครูบาอาจารย์กรรมฐานสายพระป่า โดยได้มีโอกาสได้รับธรรมะและคำสอนภาคปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอนและละเอียดลึกซึ้งโดยตรง จากพระอริยบุคคลหลายองค์  ได้แก่

          1. พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์  อตุโล)   วัดบูรพาราม   จ.สุรินทร์
          2. พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)   วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ .หนองคาย
           3. พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)       วัดป่าบ้านตาด  อ.เมือง จ.อุดรธานี
           4.  พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)     วัดป่าสาลวัน       จ.นครราชสีมา
           5. พระอาจารย์อุทัย สิริธโร วัดเขาใหญ่เจริญธรรม ญาณสัมปันโน      อ.ปากช่อง  จ.นครราชสีมา
           6.  พระอาจารย์โสภา สมโณ    วัดแสงธรรมวังเขาเขียว         อ.วังน้ำเขียว  จ.นครราชสีมา

 

        จากการศึกษาทางพระพุทธศาสนาทั้งปริยัติและปฏิบัติได้พบว่าพุทธธรรม  โดยเฉพาะเรื่องการฝึกจิต   เป็นยาขนานเอกที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทางใจไม่ให้หวั่นไหวต่อสิ่งยั่วยุคือ กิเลส  ความโลภ  ความโกรธ  ความหลง    สามารถควบคุมตนเองไม่ให้ประพฤติผิดศีลธรรม   ผิดกฎหมาย  ผิดกฎกติกา   ผิดจารีตประเพณีอันดีงามได้     เพราะพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับ  “จิต”  ซึ่งเป็นผู้สั่งกายและวาจา   ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า  “ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่   มีใจเป็นประธาน  ทุกอย่างสำเร็จด้วยใจ” 


        กระบวนการฝึกจิตโดยหลักไตรสิกขา  คือ  ศีล  สมาธิ  ปัญญา   จึงเป็นกระบวนการแก้ปัญหาสังคมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้ตรงจุดที่สุด  คือแก้ปัญหาที่ต้นตอคือจิตผู้สั่ง และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน  พัฒนาจากภายในไปสู่ภายนอก   ผู้ที่ฝึกจิตไว้ดีแล้วจึงไม่ก่อปัญหาให้กับตัวเองและสังคม   ในทางตรงกันข้ามจะเป็นบุคคลที่สร้างสรรค์สังคมได้เป็นอย่างดี

  


         ด้วยความที่มีความศรัทธาเชื่อมั่นในหลักการดังกล่าว  จึงเลือกที่จะปฏิบัติงานในจุดที่สามารถทำประโยชน์ด้านนี้ได้เต็มที่  โดยไม่สนใจงานที่สามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าทางราชการ  ทั้งค่าตอบแทนที่สูงกว่าและเกียรติยศที่จะได้รับ ที่มีผู้ทาบทามจากหลายหน่วยงาน  เช่น มหาวิทยาลัยต่างๆ  เพราะเห็นว่าระบบการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาส่วนใหญ่มุ่งเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการมากกว่าด้านคุณธรรม,  องค์กรระหว่าประเทศที่มีเงินเดือนสูงกว่าราชการหลายเท่า  แต่เนื้องานเป็นเรื่องวัตถุมากกว่าจิตใจ  ได้เงินแต่ไม่ได้บุญ


           ดังนั้นในปี 2544  จึงได้ตัดสินใจลาออกจากราชการ ซึ่งถึงแม้จะมีโอกาสทำงานด้านวิชาการควบคู่กับงานคุณธรรม   แต่การทำงานด้านคุณธรรมทำได้ไม่เต็มที่ เพราะต้องห่วงภาระรับผิดชอบงานด้านวิชาการด้วย


           ปัจจุบันรับผิดชอบโครงการอบรมพัฒนาจิต  ณ ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา


           ดร.ดาราวรรณ  เด่นอุดม ได้ทำงานสร้าง “คน” ให้เป็น “มนุษย์” (ผู้มีใจสูง) มากว่า 20 ปี 

 

         เริ่มจัดโครงการอบรมพัฒนาจิตครูและนักเรียนตั้งแต่ปี 2529   จากนั้นได้ขยายผลไปสู่หน่วยงานราชการอื่นๆ  ทั้ง มหาวิทยาลัย  ทหาร  ตำรวจ  อบต. โรงพยาบาล และภาคเอกชน  ได้จัดอบรมไปแล้วกว่า 700 รุ่น   รุ่น ๆ ละประมาณ 300 – 400 คน  รวมแล้วกว่า  200,000  คน

 


           นอกจากการจัดอบรมที่ ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว เป็นหลักแล้ว  ยังรับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายตามสถานที่ต่างๆ ทั้งบรรยายถวายความรู้  พระภิกษุ  สามเณร   บรรยายตามหน่วยงานราชการ และภาคเอกชน


           นอกจากนี้ยังได้จัดทำหนังสือ ฐานิยปูชา ซึ่งเป็นธรรมะของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย  เผยแพร่มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2532  จนถึงปัจจุบัน   จัดพิมพ์ปีละประมาณ  30,000 เล่ม


ในการทำงานต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายอย่างเช่น


- การต่อต้านจากผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานที่ให้ความสำคัญกับงานด้านวิชาการมากกว่า
- สถานที่จัดอบรม (วัดวะภูแก้ว) ในช่วง 4-5 ปีแรกมีความทุรกันดารมาก  เป็นทางลูกรังที่ขรุขระ การเดินทางยากลำบากมาก, ไม่มีน้ำประปาใช้  ต้องสั่งซื้อน้ำเป็นรถในราคาแพงมาก หรือเดินไปอาบน้ำที่น้ำตกวะภูแก้วซึ่งอยู่ไกลประมาณ 2 กิโลเมตร,  ที่พักไม่พอเพียงต้องนอนในเต็นท์เป็นบางส่วน
- ช่วง 4-5 ปีแรกทำงานโดดเดี่ยว  ยังไม่มีทีมงานต้องดูแลผู้อบรมตั้งแต่ ตี 4  จนถึง 4-5 ทุ่ม   ภายหลังมีผู้ศรัทธาในงานจึงสมัครมาร่วมเป็นวิทยากรเพิ่มขึ้น
- ตั้งแต่ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจและน้ำมันแพง    โรงเรียนมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงมาก   ไม่มีงบประมาณค่าอาหาร   จึงต้องช่วยหาทุนสนับสนุน  ด้วยการก่อตั้งมูลนิธิสารธารธรรมในความอุปถัมภ์ของพระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)    เพื่อนำดอกผลมาช่วยแบ่งเบาภาระของโรงเรียนและนักเรียน  และหาเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาเพิ่มเติม   ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายช่วยค่าอาหารนักเรียนประมาณปีละ  1,500,000 บาท


           แต่ปัญหาอุปสรรคและความยากลำบากเหล่านี้   ไม่ได้ทำให้เกิดความท้อถอย   ยังมุ่งมั่นทำงานต่อไป แม้วัยจะล่วงมากว่า 60 ปีแล้ว   ด้วยอุดมการณ์ที่จะสร้างสรรค์สังคมให้มีความสุขและความงอกงามทางจิตใจมากขึ้น   ความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและพฤติกรรมของผู้ผ่านการอบรม   เป็นกำลังใจสำคัญ  ที่ทำให้สามารถฝ่าฟันและต่อสู้กับความเหนื่อยยากและปัญหาอุปสรรคต่างๆ


 

           จากการต่อต้านและไม่เต็มใจเข้าอบรมของผู้เข้าอบรมอย่างน้อย 80 % ในวันแรกของการอบรม กลับกลายมาเป็นความประทับใจ  พอใจ  ที่ได้เข้าปฏิบัติธรรม ไม่ต่ำกว่า 90 %   ในวันปิดอบรม   เกิดศรัทธาและเห็นคุณค่าของพุทธศาสนาและการปฏิบัติธรรม    เกิดสำนึกผิดชอบชั่วดี   ต้องการละเลิกสิ่งผิด   ประพฤติตนอย่างมีคุณธรรม   ใช้ธรรมะในการดำเนินชีวิต   แก้ปัญหาชีวิตด้วยสติปัญญา  ดังประสบการณ์ที่ผู้ผ่านการอบรมได้ถ่ายทอดในวัดปิดอบรม   และได้คัดเลือกจัดพิมพ์รวมเล่มไว้หลายเล่ม  ได้แก่


• เด็กเล่าให้ฟัง
• นักศึกษาคิดอย่างไรเมื่อไปวัด
• เมื่อตำรวจตบเท้าเข้าวัด
• ครั้งหนึ่ง  ที่ฉันเข้าวัด

เด็กเล่าให้ฟัง
เด็กเล่าให้ฟัง
เมื่อตำรวจตบเท้าเข้าวัด

Last Updated on Friday, 16 March 2012 09:17